ความตกลงปารีส

จาก วิกิซอร์ซ
(ตราสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
 
ความตกลงปารีส
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
 
จัดทำโดย
 
คณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
มีนาคม ๒๕๕๙

ภาคีความตกลงนี้

เป็น ภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า "อนุสัญญา"

เป็นไปตาม ที่ประชุมเดอร์บันเพื่อการยกระดับกำรดำเนินงานซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยข้อตัดสินใจที่ 1/CP.17 ของที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา สมัยที่ ๑๗

เพื่อให้บรรลุถึง วัตถุประสงค์ของอนุสัญญา และให้เป็นไปตำมหลักการของอนุสัญญา รวมถึงหลักการของความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคีตามสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

ตระหนักถึง ความจำเป็นในการตอบสนองที่มีประสิทธิผลและก้าวหน้าขึ้นต่อภัยคุกคามเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่

อีกทั้งตระหนักถึง ความต้องการเฉพาะด้านและสถานการณ์พิเศษของภาคีประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะภาคีประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบำงอย่ำงยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญา

คำนึงอย่างเต็มที่ถึง ความต้องการเฉพาะด้านและสถานการณ์พิเศษของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในด้านเงินทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ตระหนักว่า ภาคีอาจได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ที่นำมำใช้ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

เน้นย้ำ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงาน การตอบสนอง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการเข้าถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรมและการขจัดความยากจน

ตระหนักถึง ความสำคัญพื้นฐานของการรักษาความมั่นคงทางอาหารและกำจัดความหิวโหย และความเปราะบางอย่างยิ่งของระบบการผลิตอาหารต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คำนึงถึง ความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านแรงงานที่เป็นธรรม และการสร้างงานที่มีคุณค่ำและมีคุณภาพตำมลำดับความสำคัญของการพัฒนาซึ่งกำหนดโดยแต่ละประเทศ

รับรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อกังวลร่วมกันของมนุษยชาติ เมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคีควรเคารพ ส่งเสริม และพิจารณาพันธกรณีที่เกี่ยวข้องของตนในด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เด็ก ผู้พิการทุพพลภาพและกลุ่มคนในสถานการณ์เปราะบาง และสิทธิในการพัฒนา รวมถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ การเสริมสิทธิสตรี และความเป็นธรรมระหว่างชนต่างรุ่น

ตระหนักถึง ความสำคัญของการอนุรักษ์และการเพิ่มประสิทธิภาพ ตามความเหมาะสม ของการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามทีก่าหนดในอนุสัญญา

รับทราบ ความสำคัญในการประกันความสมบูรณ์ของทุกระบบนิเวศ รวมถึงมหาสมุทร และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับในบางวัฒนธรรมในฐานะพระแม่ธรณี และรับทราบความสำคัญของบางแนวคิดของ "ความยุติธรรมด้านภูมิอากาศ" เมื่อดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยืนยันถึง ความสําคัญของการศึกษา การฝึกอบรม การตระหนักรู้ของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และความร่วมมือในทุกระดับ ในประเด็นที่ระบุไว้ภายใต้ความตกลงนี้

ตระหนักถึง ความสําคัญของการดําเนินการของหน่วยงานทุกระดับของรัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ตามกฎหมายภายในประเทศของภาคี ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกทั้งตระหนักว่า วิถีชีวิตที่ยั่งยืนและรูปแบบที่ยั่งยืนของการบริโภคและการผลิต มีบทบาทสําคัญในการแก้ไข ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ โดยภาคีประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นผู้นํา

ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ ให้ใช้นิยามตามข้อ ๑ ของอนุสัญญา โดยมีนิยามเพิ่มเติม ดังนี้

(เอ) "อนุสัญญา" หมายถึง กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้มีการรับรอง ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕)

(ปี) "ที่ประชุมรัฐภาคี" หมายถึง ที่ประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญา

(ซี) "ภาคี" หมายถึง ภาคีของความตกลงนี้

ข้อ ๒

๑. ในการยกระดับการปฏิบัติตามอนุสัญญา รวมถึงวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ความตกลงนี้ มุ่งเสริมสร้างการตอบสนองระดับโลกต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และความพยายามในการขจัดความยากจน รวมถึงโดย

(เอ) ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า ๒ องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และการมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยคํานึงว่าการดําเนินการตามนี้ จะลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสําคัญ
(ปี) เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร
(ซี) ทําให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นําไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาให้มีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๒. ความตกลงนี้จะดําเนินการโดยสะท้อนถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคํานึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ตามสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

ข้อ ๓

สําหรับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (nationally determined contributions) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกนั้น ทุกภาคีจะจัดทําและแจ้งความพยายามอย่างมุ่งมั่นตามที่ได้ระบุใน ข้อ ๔, ๒, ๕, ๑๐, ๑๑ และ ๑๓ เพื่อมุ่งสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงฉบับนี้ ตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ ๒ ความพยายามที่จะดําเนินการของทุกภาคีจะแสดงถึงความก้าวหน้าในการดําเนินงานตามระยะเวลา โดยคํานึงถึงความจําเป็นที่ต้องสนับสนุนภาคีประเทศกําลังพัฒนาเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามความตกลงนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล

ข้อ ๔

๑. เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิระยะยาวที่ได้กําหนดไว้ในข้อ ๒ ภาคีตั้งเป้าที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงที่สุดของโลกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยตระหนักว่าภาคีประเทศกําลังพัฒนาจะใช้เวลานานกว่าที่จะไปสู่ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงที่สุด และหลังจากนั้นภาคีตั้งเป้าที่จะดําเนินการลดก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว ตามวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์จากแหล่งกําเนิดและการกําจัดโดยการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามที่จะขจัดความยากจน

๒. แต่ละภาคีต้องจัดทํา แจ้ง และจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคีตั้งใจจะบรรลุการมีส่วนร่วมนั้น ภาคีต้องดําเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมนั้น

๓. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดครั้งถัดไปของแต่ละภาคีจะแสดงถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นจากการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของภาคีที่มีอยู่ในขณะนั้น และสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุดของตน โดยสะท้อนความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคํานึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ตาม สถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

๔. ภาคีประเทศพัฒนาแล้วควรยังคงความเป็นผู้นําโดยจัดทําเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จริงและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ ภาคีประเทศกําลังพัฒนาควรยังคงยกระดับความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกและได้รับการส่งเสริมเพื่อมุ่งสู่การจัดทําเป้าหมายการลดหรือจํากัดการปล่อยก๊าซเรือน กระจกที่ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจในอนาคตที่เป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

๕. ต้องมีการสนับสนุนแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนาในการปฏิบัติตามข้อนี้ โดยสอดคล้องกับข้อ ๙ ๑๐ และ ๑๑ และตระหนักว่าการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนาจะทําให้ภาคีประเทศกําลังพัฒนามีการดําเนินงานที่มุ่งมั่นขึ้น

๖. ภาคีประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กอาจจัดทําและแจ้งยุทธศาสตร์ แผน และการดําเนินงานสําหรับการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ที่สะท้อนสถานการณ์พิเศษของตน

๗. ประโยชน์ร่วมด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากการดําเนินงานด้านการปรับตัว และ/หรือ แผนสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สามารถนําไปเป็นส่วนหนึ่งของผลการดําเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อนี้

๘. ในการแจ้งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด ทุกภาคีต้องให้ข้อมูลที่จําเป็นเพื่อความชัดเจน ความโปร่งใสและความเข้าใจ ตามข้อตัดสินใจที่ 1/CP.21 และข้อตัดสินใจใดที่เกี่ยวข้องของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่ เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

๙. แต่ละภาคีต้องแจ้งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด ทุกห้าปี ตามข้อตัดสินใจที่ 1/CP.21 และข้อตัดสินใจใดของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส และแต่ละภาคีต้องได้รับการแจ้งผลการทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลก ตามที่กําหนดในข้อ ๑๔

๑๐. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ต้องพิจารณากรอบระยะเวลาร่วม (common time frames) สําหรับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด ในการประชุมสมัยที่ ๑

๑๑. ในเวลาใด ๆ ภาคีอาจปรับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดที่มีอยู่ของตน เพื่อยกระดับความมุ่งมั่นของตนตามแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

๑๒. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดซึ่งแจ้งโดยภาคีต้องได้รับการบันทึกไว้ในระบบทะเบียนสาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักเลขาธิการ

๑๓. ภาคีต้องจัดทําบัญชี (account) การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของตน ในการจัดทําบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์และการกําจัดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดนั้น ภาคีต้องส่งเสริมความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส ความถูกต้อง ความครบถ้วน การเปรียบเทียบกันได้ และความสอดคล้อง และต้องมั่นใจว่ามีการหลีกเลี่ยงการนับ ตามแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

๑๔. ในบริบทของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด เมื่อตระหนักถึงและดําเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์และการกําจัดก๊าซเรือนกระจก ภาคีควรคํานึงถึงวิธีการและแนวทางที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญา ตามบทบัญญัติวรรค ๑๓ ของข้อนี้ ตามความเหมาะสม

๑๕. ในการปฏิบัติตามความตกลงนี้ ภาคีต้องคํานึงถึงข้อกังวลของภาคีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบสูงสุด จากผลกระทบของมาตรการการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (response measures) โดยเฉพาะอย่างยิ่งของภาคีประเทศกําลังพัฒนา

๑๖. ภาคี รวมถึงองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและรัฐที่เป็นสมาชิก ที่ได้บรรลุความตกลงที่จะดําเนินการร่วมกันตามวรรค ๒ ของข้อนี้ ต้องแจ้งให้สํานักเลขาธิการทราบถึงเงื่อนไขของความตกลงดังกล่าว รวมถึงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จัดสรรให้แต่ละภาคีในช่วงระยะเวลาที่เกี่ยวข้อง เมื่อภาคีนั้นได้แจ้งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของตน สํานักเลขาธิการต้องแจ้งภาคีอนุสัญญาและรัฐที่ลงนามในอนุสัญญาทราบถึงเงื่อนไขความตกลงนั้นด้วย

๑๗. แต่ละภาคีของความตกลงดังกล่าว ต้องรับผิดชอบต่อระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนตามที่กําหนดในความตกลงนั้น ตามที่กําหนดในวรรค ๑๖ ของข้อนี้ โดยสอดคล้องกับวรรค ๑๓ และ ๑๔ ของข้อนี้ และข้อ ๑๓ และ ๑๕

๑๘. หากภาคีร่วมกันดําเนินงาน ทั้งในกรอบของ และร่วมกับองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งองค์การนั้นเป็นภาคีของความตกลงนี้ แต่ละรัฐสมาชิกขององค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนั้น และองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนั้น ต้องรับผิดชอบต่อระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ตน ตามความตกลงที่ได้แจ้งไว้ตามวรรค ๑๖ ของข้อนี้ โดยสอดคล้องกับวรรคที่ ๑๓ และ ๑๔ ของข้อนี้ และข้อ ๑๓ และ ๑๕

๑๙. ทุกภาคีควรมุ่งมั่นที่จะจัดทําและแจ้งยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ําในระยะยาว ตามวัตถุประสงค์ในข้อ ๒ โดยคํานึงถึงความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคํานึงถึงขีดความสามารถ ของแต่ละภาคี ตามสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

ข้อ ๕

๑. ภาคีควรดําเนินการอนุรักษ์และยกระดับ ตามความเหมาะสม ในการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๔ วรรค ๑ (ดี) ของอนุสัญญา รวมถึงป่าไม้

๒. ส่งเสริมให้ภาคีมีการดําเนินงานและให้การสนับสนุน รวมถึงผ่านการจ่ายค่าตอบแทนเมื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ใน การดําเนินงาน (results-based payments) ต่อกรอบการดําเนินงานที่มีอยู่ ตามแนวทางและข้อตัดสินใจ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ตกลงร่วมกันแล้วภายใต้อนุสัญญา สําหรับ แนวนโยบายและแรงจูงใจเชิงบวกสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทําลายป่าและการทําให้ป่าเสื่อมโทรม และบทบาทของการอนุรักษ์ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกําลังพัฒนา และแนวนโยบายทางเลือกอื่น เช่น แนวทางร่วมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัว (joint mitigation and adaptation) เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างบูรณาการและยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังยืนยันถึงความสําคัญของการสร้างแรงจูงใจให้เกิดประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่คาร์บอนที่เกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ตามความเหมาะสม

ข้อ ๖

๑. ภาคีตระหนักว่าบางภาคีเลือกที่จะดําเนินความร่วมมือโดยสมัครใจ ในการดําเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของตน เพื่อให้สามารถเพิ่มความพยายามในการดําเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวและเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

๒. เมื่อภาคีเข้าร่วมบนพื้นฐานของความสมัครใจในแนวทางความร่วมมือที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด ภาคีต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และทําให้มั่นใจว่ามีความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใส รวมถึงในการกํากับดูแล และต้องใช้การจัดทําบัญชีที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่า ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย (inter alia) มีการหลีกเลี่ยงการนับ สอดคล้อง กับแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

๓. การใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดภายใต้ความตกลงนี้ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจและได้รับอนุญาตจากภาคีที่เข้าร่วม

๔. ให้จัดตั้งกลไกที่นําไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้อํานาจและแนวทางของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เพื่อให้ภาคีใช้บนพื้นฐานของความสมัครใจ กลไกดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลขององค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส และต้องมุ่งหมายเพื่อ

(เอ) ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน
(บี) สร้างแรงจูงใจและเอื้ออํานวยการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหน่วยงาน ภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากภาคี
(ซี) นําไปสู่การลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคีที่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกตั้งอยู่ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกโดยส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถ นําไปใช้โดยอีกภาคีหนึ่งในการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด และ
(ดี) ส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับโลกในภาพรวม

๕. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกลไกที่กําหนดในวรรค ๔ ของข้อนี้ ต้องไม่ถูกนํามาใช้เพื่อแสดงผลสําเร็จของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของภาคีที่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกนั้นตั้งอยู่ หากนําไปใช้โดยอีกภาคีหนึ่งในการแสดงผลสําเร็จของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของตน

๖. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องทําให้มั่นใจว่าส่วนแบ่งของเงินที่ได้จากกิจกรรมภายใต้กลไกที่กําหนดในวรรค ๔ ของข้อนี้ ได้นําไปใช้เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการบริหาร จัดการ และเพื่อช่วยเหลือภาคีประเทศกําลังพัฒนาที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อใช้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการปรับตัว

๗. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องรับรองกฎ รูปแบบ และกระบวนการขั้นตอนสําหรับกลไกที่กําหนดในวรรค ๔ ของข้อนี้ ในการประชุมสมัยที่ ๑

๘. ภาคีตระหนักถึงความสําคัญของการมีแนวทางที่ไม่ใช้ตลาดที่บูรณาการ เป็นองค์รวม และสมดุล ให้แก่ภาคี เพื่อช่วยเหลือในการดําเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของตน ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน ในลักษณะที่มีการประสานงานร่วมกันและมีประสิทธิผล รวมถึงผ่าน ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย (inter alia) การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ ตามความเหมาะสม แนวทางเหล่านี้ต้องมุ่งหมายเพื่อ

(เอ) ส่งเสริมความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว
(บี) ยกระดับการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในการดําเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด และ
(ซี) สร้างโอกาสในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องมือต่าง ๆ และการจัดการเชิงสถาบันที่ เกี่ยวข้อง

๙. ให้กําหนดกรอบการดําเนินงานสําหรับแนวทางที่ไม่ใช้ตลาดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการส่งเสริมแนวทางที่ ไม่ใช้ตลาดที่กําหนดในวรรค ๘ ของข้อนี้

ข้อ ๗

๑. ภาคีได้กําหนดเป้าหมายการปรับตัวของโลกในการยกระดับความสามารถในการปรับตัว ส่งเสริมภูมิต้านทานและการฟื้นตัวและลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อทําให้มั่นใจว่าจะมีการตอบสนองด้านการปรับตัวที่เพียงพอในบริบทของเป้าหมาย อุณหภูมิ ตามที่กําหนดในข้อ ๒

๒. ภาคีตระหนักว่าการปรับตัวเป็นความท้าทายของโลกที่ทุกภาคีเผชิญ ทั้งในมิติระดับท้องถิ่น ระดับย่อยของประเทศ (subnational) ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ และตระหนักว่าการปรับตัวเป็นองค์ประกอบสําคัญของ และนําไปสู่การตอบสนองของโลกในระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องประชาชน การดํารงชีวิตและระบบนิเวศ โดยคํานึงถึงความจําเป็นเร่งด่วนและ ฉับพลัน ของภาคีประเทศกําลังพัฒนาที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๓. ความพยายามในการปรับตัวของภาคีประเทศกําลังพัฒนาต้องได้รับการตระหนักถึง โดยสอดคล้องกับ รูปแบบที่จะรับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ในการประชุมสมัยที่ ๑

๔. ภาคีตระหนักว่าความจําเป็นในปัจจุบันต่อการปรับตัวมีความสําคัญอย่างยิ่ง และตระหนักว่าการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงขึ้นสามารถลดความจําเป็นต่อความพยายามในการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น และตระหนักว่าความจําเป็นต่อการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นสามารถนําไปสู่ค่าใช้จ่ายด้านการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น

๕. ภาคีรับรู้ว่าการดําเนินการด้านงานปรับตัวควรเป็นไปตามแนวทางที่กําหนดโดยประเทศ ตอบสนองต่อบทบาทหญิงชาย มีส่วนร่วมและโปร่งใสอย่างเต็มที่ โดยคํานึงถึงกลุ่มคน ชุมชน และระบบนิเวศที่มีความเปราะบาง และควรอยู่บนพื้นฐานและเป็นไปตามแนวทางของวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ และตามความ เหมาะสมของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง และระบบภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการปรับตัวเข้าไปในนโยบายและการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามความเหมาะสม

๖. ภาคีตระหนักถึงความสําคัญของการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างประเทศต่อความพยายามด้านการปรับตัว และความสําคัญของการคํานึงถึงความต้องการของภาคีประเทศกําลังพัฒนา โดยเฉพาะภาคีที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๗. ภาคีควรเสริมสร้างความร่วมมือในการยกระดับการดําเนินงานด้านการปรับตัว โดยคํานึงถึงกรอบการดําเนินงานด้านการปรับตัวแคนคูน (Cancun Adaptation Framework) รวมถึงที่เกี่ยวกับ

(เอ) แบ่งปันข้อมูล แนวทางการปฏิบัติที่ดี ประสบการณ์และบทเรียน รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ การจัดทําแผน นโยบาย และการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว ตามความเหมาะสม
(บี) เสริมสร้างการจัดการเชิงสถาบัน รวมถึงสถาบันที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญาที่ทําหน้าที่ภายใต้ความตกลงนี้ เพื่อสนับสนุนการสังเคราะห์ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง และการให้การสนับสนุนและแนวทางทางเทคนิคต่อภาคี
(ซี) เสริมสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ รวมถึงงานวิจัย ระบบสังเกตการณ์ ระบบภูมิอากาศ และระบบการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลทแจ้งต่อผู้ให้บริการข้อมูลภูมิอากาศและสนับสนุนการตัดสินใจ
(ดี) ช่วยเหลือภาคีประเทศกําลังพัฒนาในการระบุแนวทางปฏิบัติด้านการปรับตัวที่มีประสิทธิผล ความต้องการด้านการปรับตัว ลําดับความสําคัญ การสนับสนุนทั้งที่ให้และได้รับในการดําเนินงานและความพยายามด้านการปรับตัว และความท้าทายและสิ่งที่ยังขาดอยู่ในลักษณะที่สอดคล้องกับการส่งเสริม แนวทางการปฏิบัติที่ดี
(อี) ปรับปรุงประสิทธิผลและความต่อเนื่องของการดําเนินงานด้านการปรับตัว

๘. ส่งเสริมให้องค์การและทบวงการชํานาญพิเศษของสหประชาชาติสนับสนุนความพยายามของภาคีในการดําเนินงานที่กําหนดในวรรค ๗ ของข้อนี้ โดยคํานึงถึงบทบัญญัติในวรรค ๕ ของข้อนี้

๙. แต่ละภาคีต้องดําเนินกระบวนการจัดทําแผนการปรับตัวและการนําไปปฏิบัติ รวมถึงการจัดทําและเสริมสร้างแผน นโยบาย และ/หรือ การมีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้อง ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึง

(เอ) การดําเนินงานของกิจกรรม คํามั่น และ/หรือ ความพยายาม ด้านการปรับตัว
(บี) กระบวนการในการจัดทําและการดําเนินงานของแผนการปรับตัวแห่งชาติ
(ซี) การประเมินผลกระทบและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดลําดับ ความสําคัญในการดําเนินงานที่ประเทศกําหนด โดยคํานึงถึงกลุ่มคน สถานที่และระบบนิเวศที่มีความเปราะบาง
(ดี) การติดตามและการประเมิน และการเรียนรู้จากแผน นโยบาย แผนงานและการดําเนินงานด้าน การปรับตัว และ
(อี) การสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจสังคมและระบบนิเวศ รวมถึงผ่านการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

๑๐. แต่ละภาคีควรส่งรายงานด้านการปรับตัวและปรับปรุงเป็นระยะ ซึ่งอาจประกอบด้วย ลําดับความสําคัญ ความต้องการในการดําเนินงานและการสนับสนุน แผน และกิจกรรม ตามความเหมาะสม โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมใด ๆ ให้แก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา

๑๑. ให้จัดส่งรายงานด้านการปรับตัวที่กําหนดในวรรค ๑๐ ของข้อนี้ และปรับปรุงเป็นระยะ ตามความเหมาะสม โดยให้เป็นส่วนหนึ่งหรือผนวกเข้ากับรายงานหรือเอกสารอื่น รวมถึงแผนการปรับตัวแห่งชาติ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด ตามที่กําหนดในข้อ ๔ วรรค ๒ และ/หรือ รายงานแห่งชาติ

๑๒. ให้บันทึกรายงานด้านการปรับตัวตามที่กําหนดในวรรค ๑๐ ของข้อนี้ไว้ในระบบทะเบียนสาธารณะซึ่งสํานักเลขาธิการเป็นผู้ดูแล

๑๓. ให้มีการสนับสนุนระหว่างประเทศที่ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนาเพื่อการดําเนินงานของวรรค ๗ ๙ ๑๐ และ ๑๑ ของข้อนี้ ตามบทบัญญัติของข้อ ๙ ๑๐ และ ๑๑

๑๔. การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกที่กําหนดในข้อ ๑๔ ต้อง ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย (inter alia)

(เอ) ตระหนักถึงความพยายามด้านการปรับตัวของภาคีประเทศกําลังพัฒนา
(บี) ยกระดับการดําเนินงานด้านการปรับตัว โดยคํานึงถึงรายงานด้านการปรับตัว ตามที่กําหนดใน วรรค ๑๐ ของข้อนี้
(ซี) ทบทวนความเพียงพอและประสิทธิผลของการปรับตัวและการสนับสนุนที่ให้สําหรับการปรับตัว และ
(ดี) ทบทวนความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการบรรลุเป้าหมายของโลกด้านการปรับตัวที่ตามที่ กําหนดในวรรค ๑ ของข้อนี้
ข้อ ๘

๑. ภาคีตระหนักถึงความสําคัญของการหลีกเลี่ยง บรรเทาและจัดการกับการสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสถานการณ์สภาพอากาศรุนแรงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และตระหนักถึงบทบาทของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการลดความเสี่ยงของการสูญเสียและความเสียหาย

๒. กลไกระหว่างประเทศวอร์ซอสําหรับการสูญเสียและความเสียหายเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Warsaw International Mechanism for Loss and Damage associated with Climate Change Impacts) ต้องอยู่ภายใต้การกํากับดูแลและแนวทางของที่ประชุมรัฐ ภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสและอาจได้รับการยกระดับและเสริมสร้างให้ดีขึ้นตามที่กําหนดโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

๓. ภาคีควรยกระดับความเข้าใจ การดําเนินงาน และการสนับสนุน รวมถึงโดยผ่านกลไกระหว่างประเทศวอร์ซอสําหรับการสูญเสียและความเสียหาย ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานของความร่วมมือและการ ส่งเสริมการดําเนินงาน โดยคํานึงถึงการสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางลบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

๔. ในการนี้ สาขาความร่วมมือและการส่งเสริมการดําเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ การดําเนินงาน และ การสนับสนุน อาจรวมถึง

(เอ) ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า
(บี) การเตรียมพร้อมในภาวะฉุกเฉิน
(ซี) สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
(ดี) สถานการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการสูญเสียและความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิม และที่เป็นการถาวร
(อี) การประเมินและการจัดการความเสี่ยงอย่างครอบคลุม
(เอฟ) หน่วยประกันความเสี่ยง การรวมความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ และรูปแบบการประกันภัยอื่น ๆ
(จี) ความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินในเชิงเศรษฐศาสตร์
(เอช) ภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน การดํารงชีวิตและระบบนิเวศ

๕. กลไกระหว่างประเทศวอร์ซอต้องร่วมมือกับองค์กรและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในปัจจุบันภายใต้ความตกลงรวมถึงองค์การและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้อยู่ในความตกลงนี้

ข้อ ๙

๑. ภาคีประเทศพัฒนาแล้วต้องให้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคีประเทศกําลังพัฒนา ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวโดยเป็นการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา ของภาคีประเทศพัฒนาแล้ว

๒. สนับสนุนให้ภาคีอื่น ๆ ให้การสนับสนุนดังกล่าว หรือให้การสนับสนุนดังกล่าวต่อไป โดยสมัครใจ

๓. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลก ภาคีประเทศพัฒนาแล้วควรยังคงเป็นผู้นําในการระดม เงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จากแหล่งทุน เครื่องมือ และช่องทางที่หลากหลาย โดยรับทราบถึงบทบาทที่สําคัญของเงินทุนจากภาครัฐ ผ่านการดําเนินงานที่หลากหลาย รวมถึงการสนับสนุนยุทธศาสตร์ที่กําหนดโดยประเทศ และคํานึงถึงความต้องการ และประเด็นสําคัญของภาคีประเทศกําลังพัฒนา การระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวควรแสดงถึงความก้าวหน้าที่มากไปกว่าความพยายามที่ผ่านมา

๔. การให้ทรัพยากรทางการเงินที่เพิ่มขึ้นควรมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก โดยคํานึงถึงยุทธศาสตร์ที่กําหนดโดยประเทศ และประเด็นสําคัญและความต้องการของภาคี ประเทศกําลังพัฒนา โดยเฉพาะภาคีประเทศกําลังพัฒนาที่เปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีข้อจํากัดด้านศักยภาพอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยพิจารณาถึงความต้องการทรัพยากรจากภาครัฐและในรูปแบบของเงินให้เปล่าสําหรับการปรับตัว

๕. ภาคีประเทศพัฒนาแล้วต้องแจ้งข้อมูลบ่งชี้เชิงปริมาณและคุณภาพรายสองปีที่เกี่ยวกับวรรค ๑ และ ๓ ของข้อนี้ ตามความเหมาะสม รวมถึง ระดับการคาดการณ์ทรัพยากรเงินทุนภาครัฐที่จะให้แก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา และสนับสนุนให้ภาคีอื่นที่ให้ทรัพยากรแจ้งข้อมูลดังกล่าวรายสองปีบนพื้นฐานของความสมัครใจ

๖. การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกที่กําหนดในข้อ ๑๔ ต้องคํานึงถึงข้อมูลที่แสดงถึงความพยายามเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับจากภาคีประเทศพัฒนาแล้ว และ/หรือ จากองค์กรของความตกลงนี้

๗. ภาคีประเทศพัฒนาแล้ว ต้องให้ข้อมูลรายสองปีที่โปร่งใสและสอดคล้องกัน เกี่ยวกับการสนับสนุนที่ระดมทุนโดยภาครัฐและให้แก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา โดยเป็นไปตามรูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และแนวทางที่ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงนี้จะรับรองในการประชุมสมัยที่ ๑ ตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ ๑๓ วรรค ๑๓ และสนับสนุนให้ภาคีอื่นให้ข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน

๘. ให้กลไกทางการเงินของอนุสัญญา รวมถึงหน่วยปฏิบัติของกลไกดังกล่าว ทําหน้าที่เป็นกลไกทางการเงินของความตกลงนี้

๙. สถาบัน ที่ทําหน้าที่ภายใต้ความตกลงนี้ รวมถึงหน่วยปฏิบัติของกลไกทางการเงินของอนุสัญญา ต้องมุ่งสร้างความมั่นใจให้การเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินมีประสิทธิภาพผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ง่ายและมีการ สนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมที่ดีขึ้นสําหรับภาคีประเทศกําลังพัฒนา โดยเฉพาะสําหรับประเทศพัฒนา น้อยที่สุดและประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ในบริบทของยุทธศาสตร์และแผนด้านการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคีประเทศกําลังพัฒนา

ข้อ ๑๐

๑. ภาคีมีวิสัยทัศน์ร่วมระยะยาวเกี่ยวกับความสําคัญของการตระหนักอย่างยิ่งถึงการพัฒนาและถ่ายทอด เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

๒. ภาคีต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินความร่วมมือด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยรับทราบถึงความสําคัญของเทคโนโลยีในการดําเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวภายใต้ความตกลงนี้ และตระหนักถึงความพยายามในการใช้ประโยชน์และเผยแพร่เทคโนโลยีที่มีอยู่

๓. กลไกทางเทคโนโลยีที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญา ต้องทําหน้าที่ภายใต้ความตกลงนี้

๔. ให้จัดตั้งกรอบการดําเนินงานด้านเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นแนวทางที่ครอบคลุมการทํางานของกลไกเทคโนโลยีในการส่งเสริมและเอื้ออํานวยการยกระดับการดําเนินงานด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการดําเนินงานภายใต้ความตกลงนี้ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาวตามที่กําหนดในวรรค ๑ ของข้อนี้

๕. การเร่งรัด การกระตุ้น และการทําให้เกิดนวัตกรรม มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่งสําหรับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว และส่งเสริมการเติบโตทาง เศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยความพยายามดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนตามความเหมาะสม รวมถึง การสนับสนุนจากกลไกทางเทคโนโลยี และผ่านช่องทางทางการเงิน (financial means) ของกลไก ทางการเงินภายใต้อนุสัญญา สําหรับแนวทางความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และเอื้ออํานวยการเข้าถึง เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของวัฏจักรเทคโนโลยีแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา

๖. ต้องมีการสนับสนุน รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา ในการปฏิบัติตามข้อนี้ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามช่วงต่าง ๆ ของวัฏจักรเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการสนับสนุนด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการ ปรับตัว การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกตามที่กําหนดในข้อ ๑๔ ต้องคํานึงถึงข้อมูลที่มีอยู่ของความพยายามที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา

ข้อ ๑๑

๑. การเสริมสร้างศักยภาพภายใต้ความตกลงนี้ ควรยกระดับศักยภาพและความสามารถของภาคีประเทศกําลังพัฒนา โดยเฉพาะภาคีที่มีศักยภาพน้อยที่สุด อาทิ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่มีความเปราะบาง อย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะ ขนาดเล็ก เพื่อดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผล รวมถึง ในบรรดาสิ่ง ทั้งหลาย (inter alia) การดําเนินการด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจก และควรเอื้ออํานวยการ พัฒนา เผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยี การเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) มิติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ฝึกอบรมและตระหนักรู้ของประชาชน และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วและโปร่งใส

๒. การเสริมสร้างศักยภาพ ควรกําหนดโดยประเทศ ขึ้นอยู่และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างความเป็นเจ้าของของภาคี โดยเฉพาะภาคีประเทศกําลังพัฒนาซึ่งรวมถึงระดับประเทศ ระดับย่อยของประเทศ (subnational) และระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างศักยภาพ ควรเป็นไปตามบทเรียน รวมถึงบทเรียนจากกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพภายใต้อนุสัญญา และควรเป็นกระบวนการที่ทําซ้ำอย่าง ต่อเนื่องที่มีประสิทธิผล ซึ่งสร้างการมีส่วนร่วม คาบเกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ และตอบสนองต่อบทบาทหญิงชาย

๓. ทุกภาคีควรร่วมมือกันเพื่อยกระดับการเสริมสร้างศักยภาพของภาคีประเทศกําลังพัฒนา เพื่อปฏิบัติตามความตกลงนี้ โดยภาคีประเทศพัฒนาแล้ว ควรยกระดับการสนับสนุนการดําเนินงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนา

๔. ทุกภาคีที่ยกระดับการเสริมสร้างศักยภาพของภาคีประเทศกําลังพัฒนา เพื่อปฏิบัติตามความตกลงนี้ รวมถึงผ่านแนวทางในระดับภูมิภาค ทวิภาคีและพหุภาคี ต้องแจ้งการดําเนินงานและมาตรการของการเสริมสร้างศักยภาพอย่างสม่ำเสมอ ภาคีประเทศกําลังพัฒนา ควรแจ้งความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นของการดําเนินงานด้าน แผน นโยบาย กิจกรรมหรือมาตรการของการเสริมสร้างศักยภาพอย่างสม่ําเสมอ เพื่อปฏิบัติตามความตกลงนี้

๕. กิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพ ต้องยกระดับผ่านการจัดการเชิงสถาบันที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามความตกลงนี้ รวมถึงการจัดการเชิงสถาบันที่เหมาะสมที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญา ที่ทําหน้าที่ภายใต้ความตกลงนี้ ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ในการประชุมสมัยที่ ๑ พิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจต่อการจัดการเชิงสถาบันสําหรับการเสริมสร้างศักยภาพในเบื้องต้น

ข้อ ๑๒

ภาคีต้องร่วมมือในการดําเนินมาตรการตามความเหมาะสม เพื่อยกระดับการศึกษา การฝึกอบรม การตระหนักรู้ของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตระหนักถึงความสําคัญของขั้นตอนเหล่านี้ต่อการยกระดับการดําเนินงานภายใต้ความตกลงนี้

ข้อ ๑๓

๑. เพื่อสร้างความไว้ใจและความมั่นใจร่วมกันและเพื่อส่งเสริมการดําเนินงานที่มีประสิทธิผล จึงได้จัดตั้งกรอบความโปร่งใสที่ยกระดับขึ้นจากเดิมสําหรับการดําเนินงานและการสนับสนุนโดยใหมีความยืดหยุ่นซึ่ง คํานึงถึงศักยภาพที่แตกต่างกันของภาคีและต่อยอดจากประสบการณ์ที่มีร่วมกัน

๒. กรอบความโปร่งใสต้องให้ความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อนี้สําหรับภาคีประเทศกําลังพัฒนาที่ต้องการความยืดหยุ่นดังกล่าว โดยเป็นไปตามศักยภาพของภาคี ทั้งนี้ รูปแบบ กระบวนการ ขั้นตอน และแนวทางที่กําหนดในวรรค ๑๓ ของข้อนี้ต้องสะท้อนถึงความยืดหยุ่นดังกล่าว

๓. กรอบความโปร่งใสต้องต่อยอดและยกระดับการดําเนินงานด้านความโปร่งใส (transparency arrangements) ภายใต้อนุสัญญา โดยตระหนักถึงสถานการณ์พิเศษของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและ ประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และต้องนําไปปฏิบัติในลักษณะที่เอื้ออํานวย ไม่แทรกแซง ไม่มี การลงโทษ ให้ความเคารพต่ออํานาจอธิปไตยของประเทศ และหลีกเลี่ยงการสร้างภาระที่ไม่จําเป็นแก่ภาคี

๔. การดําเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้อนุสัญญา รวมถึงรายงานแห่งชาติ (national Communications) รายงานรายสองปี (biennial reports) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (biennial update reports) การทบทวนและตรวจประเมินระดับนานาชาติ (international assessment and review) และการ วิเคราะห์และหารือระดับนานาชาติ (international Consultation and analysis) จะต้องเป็นส่วนของประสบการณ์ที่นํามาใช้ในการพัฒนารูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และแนวทางภายใต้วรรค ๑๓ ของข้อนี้

๕. ความมุ่งประสงค์ของกรอบความโปร่งใสด้านการดําเนินงาน คือ การให้ความเข้าใจที่ชัดเจนต่อการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ตามที่กําหนดในข้อ ๒ ของอนุสัญญา รวมถึงความชัดเจนและการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดของแต่ละภาคีตามข้อ ๔ และการดําเนินงานด้านการปรับตัวของภาคีตามข้อ ๗ ซึ่งรวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี การจัดลําดับความสําคัญ ความต้องการ และสิ่งที่ยังขาด เพื่อใช้ประกอบการทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกตามข้อ ๑๔

๖. ความมุ่งประสงค์ของกรอบความโปร่งใสด้านการสนับสนุน คือ การให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการให้และรับการสนับสนุนโดยแต่ละภาคีที่เกี่ยวข้อง ในบริบทของการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามข้อ ๔, ๗, ๘, ๑๐ และ ๑๑ และการให้ภาพรวมทั้งหมดเท่าที่จะทําได้ของการให้การสนับสนุนทางการเงินโดยรวม เพื่อใช้ประกอบการทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกตามข้อ ๑๔

๗. แต่ละภาคีต้องให้ข้อมูลต่อไปนี้อย่างสม่ําเสมอ

(เอ) รายงานบัญชีของประเทศที่แสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จากแหล่งกําเนิดและการกําจัดโดยแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้จัดทําโดยใช้ระเบียบวิธีตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ตกลงร่วมกันโดยที่ประชุมรัฐภาคีที่ทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส และ
(บี) ข้อมูลที่จําเป็นในการติดตามความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการดําเนินงานและการบรรลุการมีส่วน ร่วมที่ประเทศกําหนดของภาคีตามข้อ ๔

๘. แต่ละภาคีควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวตามข้อ ๗ ตามความเหมาะสม

๙. ภาคีประเทศพัฒนาแล้วต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ ที่ได้ให้แก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนาตามข้อ ๔, ๑๐ และ ๑๑ และภาคีอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุนควรให้ข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน

๑๐. ภาคีประเทศกําลังพัฒนาควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพที่ต้องการและที่ได้รับตามข้อ ๔, ๑๐ และ ๑๑

๑๑. ข้อมูลที่ส่งโดยแต่ละภาคีตามที่กําหนดในวรรค ๗ และ ๔ ของข้อนี้ ต้องผ่านการทบทวนของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (technical expert review) ตามข้อตัดสินใจที่ 1/CP.21 กระบวนการทบทวนดังกล่าวต้อง รวมถึงความช่วยเหลือในการบ่งชี้ความต้องการด้านการเสริมสร้างศักยภาพสําหรับภาคีประเทศกําลัง พัฒนาที่ต้องการการเสริมสร้างศักยภาพดังกล่าว โดยเป็นไปตามศักยภาพของภาคีนั้น นอกจากนี้ แต่ละภาคีต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงความก้าวหน้า ในลักษณะที่เอื้ออํานวย ในระดับพหุภาคี โดยคํานึงถึงการดําเนินงานในข้อ ๙ และการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องและการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด

๑๒. การทบทวนของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในวรรคนี้ต้องประกอบด้วยการพิจารณาถึงการสนับสนุนที่ภาคีให้ตามที่เกี่ยวข้อง และการดําเนินงานและการบรรลุการมีส่วนร่วมที่กําหนดโดยประเทศของภาคี การ ทบทวนดังกล่าวต้องบ่งชี้ถึงสิ่งที่ภาคีสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น และรวมถึงการทบทวนความสอดคล้องของ ข้อมูลกับรูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และแนวทางตามที่กําหนดไว้ในวรรค ๑๓ ของข้อนี้ โดยคํานึงถึงความยืดหยุ่นที่ให้แก่ภาคีตามวรรค ๒ ของข้อนี้ การทบทวนนี้ต้องให้ความสนใจโดยเฉพาะกับขีดความสามารถของประเทศที่เกี่ยวข้องและสถานการณ์ของภาคีประเทศกําลังพัฒนา

๑๓. ที่ประชุมรัฐภาคีที่ทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ในการประชุมสมัยที่ ๑ ต้องรับรองรูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และแนวทางร่วม สำหรับความโปร่งใสด้านการดําเนินงานและการสนับสนุน ตามความเหมาะสม โดยต่อยอดจากประสบการณ์การจัดการที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสภายใต้อนุสัญญา และขยายความจากบทบัญญัติในข้อนี้

๑๔. ต้องมีการสนับสนุนแก่ประเทศกําลังพัฒนาในการปฏิบัติตามข้อนี้

๑๕. อีกทั้งต้องมีการสนับสนุนสําหรับการเสริมสร้างศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสแก่ภาคีประเทศกําลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ข้อ ๑๔

๑. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องทบทวนการดําเนินงานของความตกลงนี้เป็นระยะ เพื่อประเมินความก้าวหน้าในภาพรวม ต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้และเป้าหมายระยะยาวของความตกลง (ซึ่งเรียกว่า "การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลก" (global stocktake)) การทบทวนนี้ต้องทําในลักษณะที่ครอบคลุมและเอื้ออํานวย โดยพิจารณาการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว กลไกการดําเนินงานและการสนับสนุน และคํานึงถึงความเป็นธรรมและวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่

๒. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องเริ่มการทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกครั้งแรกในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) และทุกห้าปีหลังจากนั้น เว้นแต่ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสตัดสินใจเป็นอย่างอื่น

๓. ผลลัพธ์ของการทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลกต้องแจ้งภาคีเพื่อปรับปรุงและยกระดับการดําเนินงานและการสนับสนุนที่สองคล้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความตกลงนี้ ตามที่ประเทศ กําหนด รวมทั้งยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศต่อการดําเนินงานด้านภูมิอากาศ

ข้อ ๑๕

๑. ให้จัดตั้งกลไกเพื่อเอื้ออํานวยในการปฏิบัติตามและส่งเสริมการบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ ของความตกลงนี้

๒. กลไกที่กําหนดในวรรค ๑ ของข้อนี้ ต้องประกอบด้วยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและดําเนินงานในลักษณะที่เอื้ออํานวย และปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่โปร่งใส ไม่เป็นปฏิปักษ์ และไม่ลงโทษ คณะกรรมการต้องให้ความสนใจเป็นการเฉพาะต่อขีดความสามารถและสถานการณ์ของประเทศที่ เกี่ยวข้องของภาคี

๓. คณะกรรมการต้องดําเนินการตามรูปแบบและกระบวนการขั้นตอนตามที่ได้รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่ง ทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ในการประชุมสมัยที่ ๑ และรายงานประจําปีต่อที่ประชุมรัฐ ภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส

ข้อ ๑๖

๑. ให้ที่ประชุมรัฐภาคี ในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุดของอนุสัญญา ทําหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีความตกลงนี้

๒. ภาคีอนุสัญญาที่ไม่ใช่ภาคีความตกลงนี้อาจเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการพิจารณาต่าง ๆ ของสมัยประชุมใด ๆ ของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีความตกลงนี้ได้ เมื่อที่ประชุมรัฐภาคีทําหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีความตกลงนี้ ข้อตัดสินใจต่างๆ ภายใต้ความตกลงนี้ต้องกระทําโดยภาคีของความ ตกลงนี้เท่านั้น

๓. เมื่อที่ประชุมรัฐภาคีทําหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีความตกลงนี้ สมาชิกใด ๆ ของสํานักงาน (Bureau) ของที่ประชุมรัฐภาคีที่ทําหน้าที่เป็นผู้แทนของภาคีอนุสัญญา แต่ในขณะนั้นมิได้เป็นภาคีของความตกลงนี้ จะถูกแทนโดยสมาชิกเพิ่มเติมที่ได้รับการเลือกตั้งโดยและจากบรรดาภาคีของความตกลงนี้

๔. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสที่ต้องทบทวนการปฏิบัติตามความตกลงนี้เป็นประจํา และต้องกําหนดข้อตัดสินใจต่างๆ ที่จําเป็นภายใต้อํานาจหน้าที่ของตน เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติตามความตกลงนี้เกิดประสิทธิผล ที่ประชุมต้องทําหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามความตกลงนี้และ ต้อง

(เอ) จัดตั้งองค์กรย่อยดังกล่าว ตามที่เห็นว่าจําเป็นในการปฏิบัติตามความตกลงนี้ และ
(บี) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ดังกล่าว ตามที่อาจกําหนดเพื่อการปฏิบัติตามความตกลงนี้

๕. ระเบียบข้อบังคับของที่ประชุมรัฐภาคีและกฎระเบียบทางการเงินที่ใช้บังคับภายใต้อนุสัญญาต้องนํามาใช้บังคับภายใต้ความตกลงนี้โดยอนุโลม เว้นแต่ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสอาจตัดสินใจเป็นอย่างอื่นโดยฉันทามติ

๖. ให้สํานักเลขาธิการจัดการประชุมสมัยแรกของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสพร้อมกับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาที่จัดครั้งแรก หลังจากวันที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับ การประชุมสามัญสมัยต่อไปของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องจัดขึ้น พร้อมกับการประชุมสามัญของที่ประชุมรัฐภาคี เว้นแต่ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสตัดสินใจเป็นอย่างอื่น

๗. การประชุมสมัยวิสามัญของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องจัดขึ้นในเวลาอื่นตามที่ที่ประชุมภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมภาคีของความตกลงปารีสอาจเห็นว่าจําเป็น หรือโดย การร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรของภาคีใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าการร้องขอนั้นได้รับการสนับสนุนจากภาคีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของภาคี ภายในหกเดือนที่มีคําร้องขอซึ่งสํานักเลขาธิการได้แจ้งถึงภาคีอื่น ๆ

๘. สหประชาชาติและองค์การชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศตลอดจนรัฐสมาชิกใดขององค์การเหล่านั้น หรือผู้สังเกตการณ์ในองค์การเหล่านั้นที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญา อาจมีผู้แทนเข้าร่วมในสมัยประชุมต่าง ๆ ของที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ องค์กรหรือหน่วยงานใด ไม่ว่าในระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ ที่เป็นของรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นของรัฐบาลซึ่งมีคุณสมบัติในเรื่องต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงนี้ และได้แจ้งแก่ สํานักเลขาธิการถึงความประสงค์ของตนที่จะมีผู้แทนในฐานะผู้สังเกตการณ์ในสมัยประชุมของที่ประชุมรัฐ ภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เว้นแต่มีภาคีอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามของภาคีที่เข้า ประชุมคัดค้าน การรับและการเข้าร่วมประชุมของผู้สังเกตการณ์ต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบข้อบังคับ ตามที่กําหนดในวรรค ๕ ของข้อนี้

ข้อ ๑๗

๑. ให้สํานักเลขาธิการที่จัดตั้งขึ้นโดยข้อ ๘ ของอนุสัญญาทําหน้าที่เป็นสํานักเลขาธิการของความตกลงนี้

๒. ข้อ ๘ วรรค ๒ ของอนุสัญญาในเรื่องหน้าที่ของสํานักเลขาธิการ และข้อ ๘ วรรค ๓ ของอนุสัญญาในเรื่องการจัดการต่าง ๆ สําหรับการทําหน้าที่ของสํานักเลขาธิการ ต้องนํามาใช้บังคับกับความตกลงนี้โดยอนุโลม นอกจากนี้ สํานักเลขาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภายใต้ความตกลงนี้และที่ที่ประชุมรัฐภาคี ซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตก ลงปารีสได้มอบหมาย

ข้อ ๑๘

๑. ให้องค์กรย่อยเพื่อให้คําปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์กรย่อยด้านการดําเนินงานที่จัดตั้งโดยข้อ ๙ และ ๑๐ ของอนุสัญญา ทําหน้าที่เป็นองค์กรย่อยเพื่อให้คําปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีและองค์กรย่อยด้านการดําเนินงานของความตกลงนี้ ตามลําดับ บทบัญญัติต่าง ๆ ของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสององค์กรย่อยนี้ต้องนํามาใช้บังคับกับความตกลงนี้โดยอนุโลม การประชุมสมัยต่าง ๆ ขององค์กรย่อยเพื่อให้คําปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและองค์กรย่อยด้านการดําเนินงานของความตกลงนี้ต้องจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมขององค์กรย่อยเพื่อให้คําปรึกษาทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์กรย่อยด้านการดําเนินงานของอนุสัญญาตามลําดับ

๒. ภาคีของอนุสัญญาที่ไม่ได้เป็นภาคีของความตกลงนี้อาจเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ของการประชุมสมัยใด ๆ ขององค์กรย่อย เมื่อองค์กรย่อยต่าง ๆ ทําหน้าที่เป็นองค์กรย่อย ของความตกลงนี้ ข้อตัดสินใจต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงนี้ต้องกระทําโดยภาคีที่เป็นภาคีของความตกลงนี้ เท่านั้น

๓. เมื่อองค์กรย่อยที่จัดตั้งขึ้นโดยข้อ ๙ และ ๑๐ ของอนุสัญญา ปฏิบัติหน้าที่ของตนในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับความตกลงนี้ สมาชิกใด ๆ ของสํานักงานขององค์กรย่อยเหล่านั้นที่ทําหน้าที่เป็นผู้แทนของภาคีของ อนุสัญญา แต่ในขณะนั้นมิได้เป็นภาคีของความตกลงนี้ ต้องถูกแทนโดยสมาชิกเพิ่มเติมที่ได้รับการเลือกตั้ง โดยและจากบรรดาภาคีของความตกลงนี้

ข้อ ๑๙

๑. ให้องค์กรย่อยต่าง ๆ หรือสถาบันอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดตั้งโดยหรืออยู่ภายใต้อนุสัญญา นอกเหนือจากองค์กรย่อยหรือสถาบันต่าง ๆ ที่อ้างถึงในความตกลงนี้ ทําหน้าที่ให้กับความตกลงนี้ตามข้อตัดสินใจของที่ประชุม รัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสต้องกําหนดหน้าที่ต่าง ๆ ที่จะให้องค์กรย่อยหรือสถาบันดังกล่าวนั้นปฏิบัติ

๒. ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสอาจให้แนวทางเพิ่มเติมต่อองค์กรย่อยและสถาบันดังกล่าวนั้น

ข้อ ๒๐

๑. ความตกลงนี้ต้องเปิดให้ลงนาม และต้องได้รับการให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ และองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่เป็นภาคีอนุสัญญา ความตกลงนี้ต้องเปิดให้ลงนาม ณ สํานักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๖ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ถึงวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๗ (พ.ศ. ๒๕๖๐) หลังจากนั้น ความตกลงนี้ต้องเปิดให้ภาคยานุวัตินับจากวันที่ถัด จากวันที่ปิดการลงนาม ทั้งนี้ สัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารต้องส่งมอบไว้ที่ผู้เก็บรักษา

๒. องค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคใด ๆ ที่เป็นภาคีความตกลงนี้ โดยไม่มีรัฐสมาชิกขององค์การเป็นภาคีความตกลงนี้ ต้องผูกพันตามพันธกรณีทั้งปวงภายใต้ความตกลงนี้ ในกรณีที่องค์การร่วมทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาคมีรัฐสมาชิกหนึ่งหรือมากกว่าเป็นภาคีความตกลงนี้ องค์การและรัฐสมาชิกขององค์การต้องตัดสินใจในเรื่องความรับผิดชอบขององค์การฯ และรัฐสมาชิกของตนในการปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงนี้ ในกรณีเช่นว่านั้น องค์การนั้นและรัฐสมาชิกขององค์การ ต้องไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงนี้ในเวลาเดียวกัน

๓. ในสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารขององค์การนั้น องค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคต้องประกาศขอบเขตอํานาจของตนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ความ ตกลงนี้ไว้ องค์การเหล่านี้ต้องแจ้งผู้เก็บรักษาเกี่ยวกับข้อแก้ไขใด ๆ ที่สําคัญในเรื่องขอบเขตอํานาจของตน ด้วย ซึ่งผู้เก็บรักษาต้องแจ้งให้ภาคีต่าง ๆ ทราบตามลําดับ

ข้อ ๒๑

๑. ความตกลงนี้ต้องมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่ภาคีอนุสัญญาอย่างน้อยที่สุด ๕๕ ภาคี ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อยที่สุดประมาณร้อยละ ๕๕ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ได้มอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร

๒. เพื่อวัตถุประสงค์ที่จํากัดตามวรรค ๑ ของข้อนี้เท่านั้น "การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด" หมายถึง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่าสุดที่ได้รับแจ้งจากภาคีอนุสัญญา ในวันหรือก่อนวันที่รับรองความตกลงนี้

๓. สําหรับแต่ละรัฐหรือองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคแต่ละแห่งที่ให้สัตยาบัน ยอมรับ หรือเห็นชอบความตกลงนี้ หรือภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีความตกลงนี้หลังจากที่เงื่อนไขที่กําหนดไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้ สําหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงนี้ได้รับการดําเนินการโดยครบถ้วนแล้ว ความตกลงนี้ต้องมีผลใช้ บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่รัฐหรือองค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคดังกล่าวนั้นได้มอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารของตน

๔. เพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรค ๑ ของข้อนี้ ตราสารใด ๆ ที่องค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้มอบไว้ ต้องไม่ให้นับเป็นจํานวนตราสารเพิ่มเติมจากตราสารที่รัฐสมาชิกขององค์การนั้นได้มอบแล้ว

ข้อ ๒๒

บทบัญญัติต่าง ๆ ในข้อ ๑๕ ของอนุสัญญาเกี่ยวกับการรับรองข้อแก้ไขต่าง ๆ ของอนุสัญญา ต้องนํามาใช้บังคับกับความตกลงนี้โดยอนุโลม

ข้อ ๒๓

๑. บทบัญญัติต่าง ๆ ในข้อ ๑๖ ของอนุสัญญาเกี่ยวกับการรับรองและการแก้ไขภาคผนวกต่าง ๆ ของอนุสัญญา ต้องนํามาใช้บังคับกับความตกลงนี้โดยอนุโลม

๒. ภาคผนวกต่าง ๆ ของความตกลงนี้ต้องประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้ และเว้นแต่จะได้บัญญัติอย่างแจ้งชัดไว้เป็นอย่างอื่น การอ้างถึงความตกลงนี้จะเป็นการอ้างถึงภาคผนวกใด ๆ ของความตกลงนี้พร้อมกันด้วย ภาคผนวกดังกล่าวนั้นต้องจํากัดอยู่ที่รายชื่อ แบบฟอร์ม และเรื่องอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการ อธิบายทางวิทยาศาสตร์ เทคนิค กระบวนการหรือการบริหารจัดการ

ข้อ ๒๔

บทบัญญัติต่าง ๆ ในข้อ ๑๔ ของอนุสัญญาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทต้องนํามาใช้บังคับกับความตกลงนี้โดยอนุโลม

ข้อ ๒๕

๑. แต่ละภาคีจะมีหนึ่งคะแนนเสียง เว้นแต่ตามที่กําหนดไว้ในวรรค ๒ ของข้อนี้

๒. องค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคต้องใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงของตน ในเรื่องที่อยู่ภายในขอบ อํานาจขององค์การ โดยมีจํานวนคะแนนเสียงเท่ากับจํานวนของรัฐสมาชิกขององค์การที่เป็นภาคีความตกลงนี้ องค์การเช่นว่านั้นต้องไม่ใช้สิทธิการลงคะแนนเสียงของตน หากรัฐสมาชิกใด ๆ ขององค์การได้ใช้สิทธิการ ลงคะแนนเสียง และในทางกลับกัน

ข้อ ๒๖

ให้เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้เก็บรักษาความตกลงนี้

ข้อ ๒๗

การตั้งข้อสงวนต่าง ๆ ต่อความตกลงนี้จะกระทํามิได้

ข้อ ๒๘

๑. ในเวลาใด ๆ หลังจากครบสามปีนับจากวันที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับกับภาคีใด ภาคีนั้นอาจถอนตัวจากความตกลงนี้ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้เก็บรักษา

๒. การถอนตัวเช่นว่านั้นจะมีผลหลังพ้นหนึ่งปีนับจากวันที่ผู้เก็บรักษาได้รับการแจ้งการถอนตัว หรือในวันหลังจากนั้นตามที่อาจจะระบุไว้ในการแจ้งการถอนตัว

๓. ภาคีใดที่ได้ถอนตัวจากอนุสัญญาจะถือว่าได้ถอนตัวจากความตกลงนี้ด้วย

ข้อ ๒๙

ต้นฉบับของความตกลงนี้ ซึ่งตัวบทเป็นภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน จะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ทำขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่สิบสองของเดือนธันวาคม คริสตศักราชสองพันสิบห้า

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจอย่างถูกต้องเพื่อการนั้น จึงได้ลงนามในความตกลงนี้

  • ภาคผนวก
  • ตารางคําแปลความตกลงปารีส
  • คําศัพท์เฉพาะและคําศัพท์ที่มีการใช้หลายครั้ง
คำศัพท์ คำแปลที่ใช้
acceptance, instrument of acceptance การยอมรับ, สารการยอมรับ
accession, instrument of accession ภาคยานุวัติ, ภาคยานุวัติสาร
approval, instrument of approval ความเห็นชอบ, สารการให้ความเห็นชอบ
action การดําเนินงาน / กิจกรรม
adaptation communication รายงานด้านการปรับตัว
ambition ความพยายาม
annex ภาคผนวก
anthropogenic โดยมนุษย์
amendment ข้อแก้ไข
Article ข้อ
best available science วิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่
biennial report รายงานรายสองปี
biennial update report รายงานความก้าวหน้ารายสองปี
bureau สํานักงาน
Cancun Adaptation Framework กรอบการดําเนินงานด้านการปรับตัวแคนคูน
capacity-building การเสริมสร้างศักยภาพ
climate finance เงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
climate resilience ภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
common but differentiated responsibilities and different national circumstances, in the light of different national circumstances ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ตามสถานการณของประเทศที่แตกต่างกัน
common concern of humankind ข้อกังวลร่วมกันของมนุษยชาติ
common time frames กรอบระยะเวลาร่วม
Conference of the Parties serving as the meeting of the Parties to the Paris Agreement ที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทําหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส
consensus ฉันทามติ
country-driven กําหนดโดยประเทศ
Decision ข้อตัดสินใจ
Depositary ผู้เก็บรักษา
developing country Parties ภาคีประเทศกําลังพัฒนา
developed country Parties ภาคีประเทศพัฒนาแล้ว
Durban Platform for Enhanced Action ที่ประชุมเดอร์บันเพื่อการยกระดับการดําเนินงาน
economic diversification ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ
economy-wide absolute emission reduction targets เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จริงและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ
economy-wide emission reduction and limitation targets เป้าหมายการลดหรือจํากัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ
effective มีประสิทธิผล
efficient มีประสิทธิภาพ
effort ความพยายาม
equity ความเป็นธรรม
enhance ยกระดับ/ส่งเสริม
enter into force มีผลบังคับใช้
environmental integrity ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม
facilitate เอื้ออำนวย
framework กรอบการดำเนินงาน
gender-responsive ตอบสนองต่อบทบาทหญิงชาย
global stocktake การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก
good practices แนวทางการปฏิบัติที่ดี
guidance แนวทาง
host Party ภาคีที่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกตั้งอยู่
implementation การดําเนินงาน / การปฏิบัติตาม
in accordance with ตาม / โดยเป็นไปตาม
indigenous peoples ชนพื้นเมือง
institutional arrangement การจัดการเชิงสถาบัน
inter alia ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย
intergenerational equity ความเป็นธรรมระหว่างชนต่างรุ่น
Intergovernmental Panel on Climate Change คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
international assessment and review การทบทวนและตรวจประเมินระดับนานาชาติ
International Atomic Energy Agency ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
international consultation and analysis การวิเคราะห์และหารือระดับนานาชาติ
internationally transferred mitigation outcomes การวิเคราะห์และหารือระดับนานาชาติ
joint mitigation and adaptation approaches แนวทางร่วมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัว
least developed countries ภาคีประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
livelihoods การดํารงชีวิต
loss and damage การสูญเสียและความเสียหาย
low greenhouse gas emissions development การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
means of implementation กลไกการดำเนินงาน
methodologies ระเบียบวิธี
mitigation การลดก๊าซเรือนกระจก
modalities mutatis โดยอนุโลม
national adaptation plan การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด
national communication รายงานแห่งชาติ
need ความจำเป็น/ความต้องการ
nationally determined contributions การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด
paragraph วรรค
Parties ภาคี
pathway แนวทาง
poverty eradication การขจัดความยากจน
pre-industrial levels ยุคก่อนอุตสาหกรรม
"prepare, communicate and maintain successive nationally determined contributions" จัดทํา แจ้ง และจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศ กําหนดอย่างต่อเนื่อง
procedures กระบวนการขั้นตอน
progression ความก้าวหน้า
provision บทบัญญัติ
public access to information การเข้าถึงข้อมูของประชาชน
public awareness การตระหนักรู้ของประชาชน
public participation การมีส่วนร่วมของประชาชน
Public registry ระบบทะเบียนสาธารณะ
purpose ความมุ่งประสงค์
ratification, instrument of ratification การให้สัตยาบัน, สัตยาบันสาร
regional economic integration organizations องค์การร่วมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
removal การกำจัด
reservation ข้อสงวน
reservoirs การกักเก็บ
response measures มาตรการการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
results-based payments การจ่ายค่าตอบแทนเมื่อเกิดผลสัมฤทธ์ในการดําเนินงาน
secretariat สํานักเลขาธิการ
Secretary-General เลขาธิการ
session สมัย
sinks การดูดซับ
small island developing States ประเทศกําลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
sources แหล่งกําเนิด
special circumstance สถานการณ์พิเศษ
subnational ระดับย่อยของประเทศ
Subsidiary Body for Implementation องค์กรย่อยด้านการดําเนินงาน
Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice องค์กรย่อยเพื่อให้คําปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
sustainable development การพัฒนาที่ยั่งยืน
technical expert review การทบทวนของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
those that are particularly vulnerable to the adverse effects of climate change ที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
United Nations Framework Convention on Climate Change กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
United Nations specialized agencies องค์การชํานาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
vice versa ในทางกลับกัน
Warsaw International Mechanism for Loss and Damage associated with Climate Change Impacts กลไกระหว่างประเทศวอร์ซอสำหรับการสูญเสียและความเสียหายเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"