นิราศท่าดินแดง/อธิบาย

จาก วิกิซอร์ซ
อธิบาย
เรื่อง พระราชนิพนธ์นิราศฯ ท่าดินแดง

เมื่อรัชกาลที่ ๑ พอสร้างกรุงรัตนโกสินทรสำเร็จในปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘ ปีนั้นเอง พม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทย ศึกพม่าครั้งปีมเสงนั้นใหญ่โตกว่าที่เคยปรากฎในพงศาวดารมาแต่ก่อน เพราะพม่ายกกองทัพมาทุกทาง ทั้งปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ แลทิศตวันตก ประสงค์จะมิให้ไทยมีโอกาศที่จะต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้ได้ จำนวนรี้พลพม่าก็มากกว่าไทยราว ๕ ต่อ ๓ แต่ฝ่ายไทยคิดต่อสู้เอาไชยชนะได้โดยยุทธวิธี คือ ปล่อยให้พม่าทำทางอื่นตามชอบใจบ้าง เปนแต่ขัดตาทัพหน่วงไว้บ้าง รวมกำลังไประดมตีกองทัพหลวงของพม่าซึ่งพระเจ้าปะดุงยกมาเองทางด่านพระดีย์สามองคทัพเดียว ครั้นทัพหลวงของพม่าพ่ายแพ้ กองทัพพม่าที่ยกมาทางอื่นก็ถอยหนีไปบ้าง ที่หนีไม่ทันกองทัพไทยก็ตีแตกยับเยินไปหมดทุกทัพ พระเจ้าปะดุงเสียทีไทยไปในคราวที่กล่าวนี้มีความอัปรยศอดสู ด้วยยังไม่เคยรบแพ้ใครมาก่อน จึงให้เตรียมกองทัพจะยกมาอิก เห็นว่า กระบวรทัพที่ยกมาหลายทางอย่างครั้งก่อนเอาไชยชนะไทยไม่ได้ ด้วยขัดข้องในการลำเลียงเสบียงอาหาร กองทัพทั้งปวงจึงไม่สามารถจะทุ่มเทเข้ามาให้ถึงที่มุ่งหมายพร้อมกันได้ ในครั้งนี้ คิดจะรวมกำลังยกมาแต่ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางเดียว แลจะทำสงครามเปนการแรมปี ตีกรุงเทพฯ อย่างเมื่อครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาในคราวหลัง เพราะฉนั้น พระเจ้าปดุงจึงให้กะเกณฑ์เสบียงอาหารขนมารวบรวมไว้ที่เมืองเมาะตมะแต่ในฤดูฝนเมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ พอถึงฤดูแล้ง ก็ให้ประชุมทัพที่เมืองเมาะตมะ ให้ราชบุตรผู้เปนพระมหาอุปราชาลงมาเปนนายทัพที่ ๑ มีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ยกเข้ามาตั้งในแดนไทยตอนที่ข้ามเขาบรรทัด ให้มาตั้งยุ้งฉางวางเสบียงอาหารรายทาง แลต่อเรือสำหรับกองทัพที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ เมื่อการตระเตรียมพร้อมแล้ว พระเจ้าปะดุงจะยกกองทัพหลวงตามเข้ามา พระมหาอุปราชาจดกองทัพที่ยกเข้ามาเปนสามกอง กองที่ ๑ ให้เมียนหวุ่นคุมพล ๑๕,๐๐๐ มาตั้งที่ตำบลท่าดินแดง กองที่ ๒ ให้เมียนเมหวุ่นคุมพลหนึ่ง ๑๕,๐๐๐ มาตั้งที่ตำบลสามสบ กองที่ ๓ พระมหาอุปราชาคุมมาเอง จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ มาตั้งอยู่ที่ริมลำน้ำแม่กระษัตริย์ ใกล้กับด่านพระเจดีย์สามองค์ เพราะกองทัพพระมหาอุปราชาที่ยกเข้ามาจะต้องทำการอยู่ในแดนข้าศึกนานวัน เกรงว่า ไทยจะยกไปตี จึงตั้งค่ายอย่างมั่นคงหลายค่าย แล้วสร้างสะพานข้ามห้วยธาร แลทำทางที่จะไปมาถึงกันได้โดยสดวกทุก ๆ ค่าย

ฝ่ายไทย ครั้นทราบว่า พม่ายกกองทัพเข้ามาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ปลายน้ำไทรโยคดังกล่าวมา ก็คาดความคิดพม่าถูก จึงตกลงกันว่า จะต้องชิงไปตีพม่าเสียให้แตกแต่ที่นั้น อย่าให้ตั้งทำการอยู่ได้ การสงครามจึงจะเบาแรง กองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปทรงบัญชาการศึกเองทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จโดยกระบวรเรือจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองไทรโยค แล้วยกเปนกองทัพบกต่อไป พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดง กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ เข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้ง ๒ ทัพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ รบกันอยู่ ๓ วัน ถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เพลาบ่าย ไทยแหกค่ายพม่าเข้าไปได้ พม่าต่อสู้อยู่จนพลบค่ำก็พากันทิ้งค่ายแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไปถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่ตำบลแม่กระษัตริย์ พระมหาอุปราชารู้ว่า กองทัพน่าแตกแล้ว ก็รีบหนี มิได้รอต่อสู้ ในพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนี้ กองทัพพม่าแตกยับเยิน ไทยฆ่าฟันพม่าล้มตายมากนัก ที่จับเปนได้ก็มาก เสียทั้งช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารแลเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เปนอันมาก แลปืนใหญ่นั้น ว่า ไทยได้ไว้ทั้งหมด ไม่เหลือไปสักกระบอกเดียว เรื่องราวการสงครามครั้งรบพม่าที่ท่าดินแดงมีเนื้อความดังกล่าวมา.

การแต่งกลอนเพลงยาวนิราศในเวลาไปทัพฤๅไปเที่ยวทางไกล เปนการที่ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ยังมีตัวอย่างปรากฎอยู่ เช่น เพลงยาวนิราศของหม่อมพิมเสน เปนต้น เหตุใดจึงพอใจแต่งนิราศกัน คิดดูก็พอเห็นได้ ด้วยในเวลาเดินทัพฤๅเวลาเที่ยวที่ต้องไปในเรือหลาย ๆ วัน มีเวลาว่างมาก นั่ง ๆ นอน ๆ ไปจนเบื่อ ก็ต้องหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้มีความรู้ในทางวรรณคดีก็หันเข้าหาการแต่งกลอนแก้รำคาญ จึงชอบแต่งนิราศ ที่พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดงก็ด้วยเหตุนั้นเอง พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีผู้พิมพ์ไว้กับเพลงยาวเรื่องอื่น แล้วพิมพ์ต่อกันมาอิกหลายครั้ง แต่ที่พิมพ์กันนั้นมักวิปลาสคลาศเคลื่อนมาก ซ้ำหลงกันไปว่า เปนเพลงยาวของเจ้าฟ้าจีดครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย ฉบับซึ่งได้ชำระถูกต้องดีมีแต่ที่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉนั้น จึงเห็นว่า สมควรจะพิมพ์ออกเฉภาะเรื่องให้ได้อ่านกันแพร่หลายแลรักษาพระราชนิพนธ์ไว้อย่าให้สูญเสีย.