ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 15 (2462)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 15
ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๕
พิมพ์แจกในงานปลงศพ
พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์
แล
คุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์
ปีมะเม พ.ศ. ๒๔๖๒
พิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย

จ่า พระสนิทราชการ กับขุนพลสงคราม มาแจ้งความแก่กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครว่า จะทำการปลงศพสนองคุณพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ บิดา กับศพคุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ มารดา พร้อมกันที่จังหวัดพัทลุง มีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณเปนของแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าเปนผู้เลือก เห็นว่ามีหนังสือซึ่งสมควรจะพิมพ์แจกในงานศพพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์กับคุณหญิงถมยาอยู่เรื่อง ๑ คือ หนังสือพงษาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งหลวงศรีวรวัตร พิน กับขุนสิกขกิจบริหาร อยู่ มีนะกนิษฐ ซึ่งเปนธรรมการจังหวัดพัทลุง ได้ช่วยกันแต่งแล้วส่งมาให้หอพระสุมดสำหรับพระนครไม่ช้ามานัก ข้าพเจ้าจึงได้ให้พิมพ์ด้วยความเห็นชอบของเจ้าภาพ แลจัดไว้ในจำพวกประชุมพงษาวดารนับเปนภาคที่ ๑๕

หนังสือพงษาวดารจังหวัดพัทลุงที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ผู้แต่งเปนผู้อยู่ประจำในจังหวัดพัทลุงทั้ง ๒ คน หลวงศรีวรวัตร พิน จันทโรจวงศ์ เปนบุตรพระยาวรวุฒิไวย ซึ่งเปนผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่จนแก่ชรา แล้วได้เลื่อนขึ้นเปนจางวางจังหวัดพัทลุง ขุนสิกขกิจบริหารเปนตำแหน่งธรรมการ ได้ลงไปประจำอยู่จังหวัดพัทลุงมาหลายปี ทั้ง ๒ คนนี้เอาใจใส่ในโบราณคดี อุส่าห์สืบสวนเรื่องราวอันเปนพงษาวดารของบ้านเมือง อันสามารถจะรู้ได้ด้วยหนังสือเก่าที่มีอยู่แล้วบ้าง ตามถ้อยคำที่บอกเล่าสืบต่อกันมาในท้องที่บ้าง ตลอดจนตรวจตราสิ่งสำคัญของโบราณซึ่งมีอยู่ในท้องที่ เก็บความมาเรียบเรียงเปนหนังสือพงษาวดารพัทลุงเรื่องนี้ขึ้น หนังสือเรื่องนี้ผู้แต่งมีความประสงค์เพียงจะแสดงให้ทราบว่า เรื่องราวของเก่ามีมาอย่างไร ๆ ไม่ใช่ตั้งใจจะวินิจฉัยว่า เรื่องพงษาวดารจังหวัดพัทลุงที่แท้จริงเปนอย่างไร ๆ ความข้อนี้เขาปล่อยไว้สำหรับผู้อื่นจะได้พิจารณาต่อไปจากหนังสือที่เขาเรียบเรียงไว้นี้ เพราะฉนั้น ถ้าอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้ตรงตามความมุ่งหมายของผู้แต่ง ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะรู้สึกขอบใจผู้แต่งที่เขาอุตสาหะสืบสวนเรื่องราวมาเรียบเรียงไว้ให้อ่าน

อนึ่ง เจ้าภาพได้เรียงประวัติพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ กับประวัติคุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ ส่งมา ประสงค์จะให้พิมพ์ไว้ด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ตรวจตราแล้วให้พิมพ์ไว้ท้ายคำนำต่อไปนี้:—

ประวัติพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์

พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ (โต ศิริธร) เปนบุตรนายน่วมมหาดเล็กบุตรพระทิพกำแหงสงคราม (บุญคง) ปลัดจังหวัดพัทลุงซึ่งเปนลูกน้องของพระยาพัทลุง (ขุน คางเหล็ก) นางหนูดำบุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนมารดา

เกิดที่จังหวัดพัทลุงเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ ถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิ์เปนหลวงเขตรขันธภักดีปลัดจังหวัดปะเหลียนเมื่อยังไม่ได้ยุบลงเปนอำเภอ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เปนพระพลสงคราม จางวางด่านจังหวัดพัทลุง

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองหัวเมืองเปนมณฑลเทศาภิบาล ได้รับตำแหน่งนายอำเภอพนางตุง จังหวัดพัทลุง ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า อำเภออุดร

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในงานพระราชพิธีรัชมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ มีตำแหน่งรับราชการในกระทรวงวัง แลพระราชทานบ้านหลวงให้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมา

ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ชราทุพลภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญ แต่นั้นพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์อยู่ที่กรุงเทพฯ บ้าง ออกไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดพัทลุงบ้าง

พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ได้ทำการวิวาหะมงคลกับคุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ บุตรพระพลสงคราม (พุ่ม) ซึ่งเปนหลานพระยาพัทลุง (เผือก) น้องพระยาพัทลุง (ขุน คางเหล็ก) ในสกุลเดียวกัน มีบุตรด้วยคุณหญิงถมยาซึ่งมีตัวอยู่เวลานี้ ๔ คน คือ รองอำมาตย์โท ขุนพลสงคราม (เพิ่ม ศิริธร) รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ๑ นางตลับ ภรรยานายพันตรี หลวงโยธาบริบาล (เลือน เทพานนท์) ๑ จ่า พระสนิทราชการ (สมบุญ ศิริธร) ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมราชเลขานุการในพระองค์ ๑ นางทับทิม ภรรยามหาดเล็กวิเศษ หยุด บุณยรัตพันธ์ บุตรนายพันตรี หลวงอังคนิศสรพลารักษ์ ๑

กับมีบุตรด้วยภรรยาอื่นอิก ๒ คน คือ นายเริ่ม รับราชการอยู่จังหวัดตรัง ๑ นางเชย ภรรยานายทับ บุตรหลวงวิบูลยบุรขัณฑ์ (นพ ณพัทลุง) ๑

พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์เปนผู้ที่มีใจโอบอ้อมอารีแก่บันดาญาติแลมิตร ได้นำบุตรหลานเข้ามาถวายตัวรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคน แลเมื่อรับราชการอยู่ที่จังหวัดปะเหลียนแลพัทลุง ได้ทำราชการพิเศษหลายคราว เช่น รักษาราชการเมืองแทนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี) เมื่อยังเปนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินแลรับเจ้านายที่จังหวัดพัทลุงบ้าง

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ป่วยเปนไข้เพื่อลมกำเริบ ครั้นวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๕ นาฬิกาก่อนเที่ยง ก็ถึงอนิจกรรมที่จังหวัดพัทลุง นับอายุเรียงปีได้ ๖๔ ปี.

ประวัติคุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์

คุณหญิงถมยาเปนบุตรพระพลสงคราม (พุ่ม) นางหนูบุตรพระยาไชยาเปนมารดา

เกิดที่จังหวัดพัทลุงเมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้กระทำการวิวาหะมงคลด้วยพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ (โต ศิริธร) มีบุตรด้วยกันซึ่งมีตัวอยู่ในเวลานี้ ๔ คน เปนผู้ซื่อสัตย์สุจริตร่วมศุขทุกข์ต่อสามีจนตลอดมา เมื่อพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์เข้ามารับราชการอยู่กรุงเทพฯ คุณหญิงถมยาได้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ เปนผู้ที่ทรงคุ้นเคย แลได้รับพระมหากรุณาปกเกล้าฯ ตลอดมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ กลับออกไปอยู่ที่บ้านจังหวัดพัทลุง ได้ป่วยเปนโบราณโรคอยู่หลายเดือน ครั้นเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๕ นาทีหลังเที่ยง ก็ถึงแก่กรรมที่จังหวัดพัทลุงก่อนสามี ๑๐ เดือน นับอายุเรียงปีได้ ๖๓ ปี สิ้นเนื้อความตามประวัติเท่านี้

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทานซึ่งจ่าพระสนิทราชการกับขุนพลสงครามได้บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณพระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ แลคุณหญิงถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ ผู้บิดามารดา แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก แลเชื่อว่า ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้จะพอใจแลอนุโมทนาทั่วกัน.

  • สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒

พงษาวดารเมืองพัทลุงฉบับนี้ เดิมทีได้เรียบเรียงขึ้นด้วยท่านขุนสิกขกิจบริหาร ธรรมการจังหวัด ได้ขอช่วยให้ค้นหาเรื่องเก่า ๆ ซึ่งจะเปนพงษาวดารของเมืองพัทลุงได้ เพื่อจะนำลงไว้ในภูมิศาสตร์สำหรับมณฑลนครศรีธรรมราช แลต้องการเปนเนื้อความย่อ ครั้นข้าพเจ้าตรวจค้นหาเรื่องต่าง ๆ ก็ได้หลักถานในหนังสือเก่า ๆ มีเพลาวัด (ตำนานวัด) บ้าง จดหมายเหตุอื่น ๆ เปนประวัติของเจ้าเมืองบ้าง แลหนังสือเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ กับหลักถานของพื้นที่เก่า ๆ ประกอบกันก็ลงรอยถูกต้องกันเปนรูปเรื่องพงษาวดารเมืองพัทลุงได้ดี ๆ จึงพยายามเรียบเรียงขึ้นเปนพงษาวดารโดยพิศดาร เพื่อให้เนื้อความติดต่อกันอ่านง่าย โดยเวลานานเกือบ ๒ ปีจึงสำเร็จ แลขอบใจท่านขุนสิกขกิจบริหารที่ได้ช่วยหาเรื่องซึ่งเกี่ยวกับพงษาวดารนี้ให้บ้าง ทั้งได้ช่วยตรวจตราสอบทานในการคัดเขียนด้วย นับว่าความสดวกที่ได้ทำจนสำเร็จก็เพราะท่านขุนสิกขกิจบริหารช่วยเหลือมาก เท่าที่เรียบเรียงไว้นี้นับว่ามีเรื่องพอต้องการก็ว่าได้ สิ่งสำคัญที่ได้ตรวจสอบถือเอาเปนหลัก คือ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับพระราชหัดถเลขา

อนึ่ง ในเรื่องราวตำราเดิมที่เอามาเรียบเรียงเปนพงษาวดารเมืองพัทลุงนี้ประมาณราว ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว กล่าวความพิศดารเปนอภินิหารของบุคคลโดยมาก ได้ตัดพลความออกเสียบ้าง ถ้ามีความเห็นของข้าพเจ้าอย่างไร ได้วงเล็บไว้ส่วนหนึ่ง แลศักราชเห็นใช้อยู่ ๒ อย่าง เนื้อความตอนต้นจนถึง พ.ศ. ๒๐๕๗ ใช้พุทธศักราช ตอนปลายใช้จุลศักราช แต่ข้าพเจ้าได้คิดเทียบศักราชลงไว้ทั้ง ๒ อย่างทุกแห่ง เพื่อดูง่ายแลตรวจสอบง่าย ส่วนศักราช ร.ศ. นั้นเปนชั้นใหม่ ไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบนัก แต่ได้นำมาลงไว้ในตอนหลัง ๆ ด้วยตามเรื่องเดิม กับข้าพเจ้าได้เขียนวิธีปกครองแต่โบราณไว้ท้ายพงษาวดารนี้ด้วย

แลการเรียบเรียงเรื่องเก่าแก่เช่นนี้ย่อมมีที่ผิดพลั้งอยู่บ้างเปนธรรมดา แต่ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ผู้เรียบเรียงเจตนาจะให้ผิดจากความจริงเลย แล้วแต่เรื่องที่ได้พบได้อ่านเท่านั้น เพราะฉนั้น ถ้าพงษาวดารฉบับนี้จะมีที่คลาศเคลื่อนประการใด ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงด้วย

เรื่องพงษาวดารฉบับนี้ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านนัก แต่เมื่อมีเวลาว่างเปล่าอยู่ก็ทำขึ้นไว้ ดีกว่าทิ้งให้สูญเสียเปล่า กับทั้งเปนการช่วยท่านขุนสิกขกิจบริหารในการที่ทำภูมิศาสตร์นั้นด้วย

วันที่ ๒๘ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
หลวงศรีวรวัตร์ (พิญ จันทโรจวงศ์)

อนึ่ง ได้พบศัพท์ในเพลา หรือตำนานสำหรับวัด เปนศัพท์ที่เขียนไว้ในพงษาดารนี้ ควรสังเกต คือ

ศัพท์ฝ่ายปกครอง

๑. หัวพันส่วย คือ ชั้นผู้ใหญ่ที่เปนนายผู้กำกับ นายหมวด นายกอง

๒. หัวปาก คือ ขุนหมื่นแลนายหมวดนายกองผู้ควบคุมเลขส่วยต่าง ๆ

ศัพท์ฝ่ายพระสาสนา

๑. เลิกพระสาสนา คือ ปฏิสังขรณ์วัด

๒. เลณฑุบาต คือ เขตรแดน

๓. ข้าโปรดคนทานพระกัลปนา คือ บุคคลจำพวกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนข้าพระหรือเลขวัดสำหรับรักษาวัด

๔. ศิลบานทานพระกัลปนา คือ เรือกสวนไร่นาที่ทรงพระราชอุทิศให้เปนพระกัลปนาสำหรับวัดหรือธรณีสงฆ์

๕. นายประเพณี คือ หัวหน้าผู้รักษาประโยชน์ของวัดแลบำรุงวัด ได้บังคับว่ากล่าวทั่วไป (หรือทำนองมัคนายก)

๖. หัวสิบ คือ ผู้ควบคุมเลขวัด ที่เรียกข้าโปรดคนทานในหมู่ ๑ หรือหมวด ๑

๗. หัวงาน คือ หัวหน้าหรือนายนานายสวนแปลงหนึ่ง ๆ ซึ่งเปนที่กัลปนาหรือธรณีสงฆ์


(ตอนนี้เปนเรื่องดึกดำบรรพ์ มีเรื่องราวเขียนด้วยเส้นดินสอดำในกระดาดเพลาเย็บเปนเล่มคล้ายสมุดจีน เรียกว่า “เรื่องนางเลือดขาว” มีเรื่องราวเปนอภินิหารยืดยาวเปนทำนองนิทาน) คือ

เดิมเมืองพัทลุงได้ตั้งมาแล้วก่อน พ.ศ. ๑๔๘๐ หรือราว ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว เมืองตั้งอยู่ที่จะทิ้งพระ (ตัวเดิมเขียนเปนสทิงพระทุกฉบับ ที่อำเภอจะทิ้งพระแขวงจังหวัดสงขลาเดี๋ยวนี้ รากกำแพงแลคูเมืองยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ประมาณยาวไปทางทิศเหนือทิศใต้ ๗ เส้นเศษ กว้าง ๖ เส้น ๑๖ วา ราษฎรแถวนั้นเรียกที่นั้นว่า “ในเมือง”) ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองชื่อ เจ้าพระยากรงทอง ได้ครองเมืองพัทลุงครั้งกรุงศรีอยุทธยามหานครฝ่ายเหนือ หรือกรุงศุโขไทยราชธานี ครั้งนั้นตาสามโมผัว ยายเพ็ชร์เมีย อยู่ที่ตำบลปละท่าตวันตกของทะเลสาบ (คือบ้านพระเกิด) เปนหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้างเลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรงทองทุกปี ต่อมาตายายได้กุมารจากป่าไม้ไผ่เสรียง มีพรรณเลือดนั้นเขียวขาวเหลืองดำแดง กับได้นางจากป่าไผ่ตง มีพรรณเลือดนั้นขาว จึงเรียกว่า “นางเลือดขาว” (กุมารกับนางเลือดขาวนี้น่าจะเปนบุตรลับ ๆ เปนอะสะธรรมชาติ มารดามีความละอายเอาไปทิ้งไว้ในป่าไผ่ก็เปนได้) ตายายก็เอามาเลี้ยงไว้จนเจริญวัยขึ้น ตายายจึงแต่งกุมารกับนางเลือดขาวให้อยู่กินเปนสามีภริยากัน ครั้นกาลนานมา ตายายถึงแก่กรรม กุมารกับนางก็กระทำฌาปนกิจแล้วนำอัฐิไปฝังไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ กุมารกับนางก็ได้รับมรฎกเปนนายกองช้างต่อมามีกำลังขึ้น แต่นั้นมาก็เรียกตำบลบ้านนั้นว่า “พระเกิด” เปนส่วยช้างเลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรงทองปีละตัว จึงทำเพลาตำรา (ตำนาน) ไว้สำหรับเมืองพัทลุงสืบมา ต่อมาเรียกว่า “ที่คช” (คือที่ส่วยช้าง) มีเขตรถึงบ้านท่ามะเดื่อฯลฯ

ครั้นกาลล่วงมา กุมารแลนางเลือดขาวก็พาสมัคพรรคพวกขึ้นช้างพลายคชวิไชยมณฑล หมอเฒ่าแก่นมั่นคงควาญ กับช้างพังตลับ หมอเฒ่าสีเทพควาญ ไปทางทิศอิสาณพระเกิด ก็ตั้งพักอยู่ณบางแก้ว แต่นั้นมาก็เรียกกุมารนั้นว่า “พระยา” ครั้งนั้นนางเลือดขาวยกเอาทรัพย์สร้างพระพุทธรูปแลอุโบสถไว้ที่ตำบลสทังวัดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกกันว่า “วัดสทังใหญ่” แต่รกร้างมานานแล้ว

ฝ่ายพระยากุมารก็เอาทรัพย์ทำพระวิหารแลพระพุทธรูป แล้วจึงจาฤกลงไว้ในแผ่นทองคำเปนตำนาน ให้ชื่อว่า “วัดเขียนบางแก้ว” อีกอารามหนึ่ง

แลวันพฤหัศบดี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุล เอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ (จ.ศ. ๓๐๑) ที่จะทิ้งพระ เจ้าพระยากรงทองก็ทำพระมหาธาตุแลก่อพระเชตุพลวิหารขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ อาราม

ครั้นปีจอ โทศก พ.ศ. ๑๔๙๓ (จ.ศ. ๓๑๒) พระยากุมารกับนางเลือดขาวก็เที่ยวไป ๗ วัน ถึงตรังแขวงเมืองนครศรีธรรมราช พระยากุมารก็ทำพระพุทธรูปเปนพระบรรทมณที่ตรังนั้นองค์หนึ่ง แลเมื่อกลับจากลังการสิงหฬนั้น นางเลือดขาวจึงสร้างอารามพระศรีสรรเพ็ชญ์พุทธสิหิงค์ณที่พักที่ตรังอิกอารามหนึ่ง (เห็นจะเปนครั้งพระเจ้าไสยณรงค์ พระเจ้ากรุงศุโขทัย ให้ทูตเมืองนครศรีธรรมราชไปเชิญพระพุทธสิหิงค์มาแต่เมืองลังกาทวีป ในเวลาเสด็จประพาศเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ราชทูตเห็นจะไปลงเรือที่เมืองตรัง พระยากุมารกับนางเลือดขาวจะไปกับราชทูตในงานเชิญพระพุทธสิหิงค์นี้ด้วย จึงมีศรัทธามากจึงได้สร้างวัดจำลองพระไว้) ครั้นสำเร็จแล้วก็เขียนจาฤกไว้ลงณวันที่ ค่ำ แล้วพระยากุมารกับนางเลือดขาวก็กลับมา ตั้งแต่นั้นมา พ.ศ. ล่วงได้ ๑๕๐๐ ปี พระยากุมารกับนางเลือดขาวก็อยู่ที่บางแก้วนั้น ต่อมาเรียกที่นั้นว่า “ที่วัด” (คือที่พระกัลปนาสำหรับคณะป่าแก้ววัดเขียน) มีเขตรถึงบ้านดอนจิ่งจาย

ต่อมาพระยากุมารกับนางก็เที่ยวไปถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างพระพุทธรูปเปนหลายตำบล ก็ตั้งอยู่ณเมืองนครศรีธรรมราช แลยังพระสาริกธาตุกับเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชผู้บุตรเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชคนก่อนนั้น

จำเดิมแต่นั้นมา ก็ลือชาปรากฎถึงกรุงศรีอยุทธยามหานครฝ่ายเหนือ (คือกรุงศุโขทัยราชธานี) โปรดให้พระยาพิศณุโลกกับนางทองจันทน์เปนนางคุมนางสนมออกมารับนางเลือดขาวที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อจะทรงเลี้ยงเปนมเหษี พระยากุมารก็กลับมาอยู่ที่พระเกิดบ้านเดิม ครั้นนางเลือดขาวเข้าไปถึงกรุง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็หาได้ยกขึ้นเปนมเหษีหรือนางสนมพนักงานไม่ ด้วยนางนั้นมีสามีแลมีครรภ์ติดมาแต่สามีเดิมแล้ว ครั้นถึงกำหนด นางคลอดบุตรเปนกุมาร ครั้นกุมารนั้นเจริญวัยขึ้น ทรงขอไว้ นางเลือดขาวจึงทูลลากลับบ้านเดิม จึงโปรดให้ส่งถึงบ้านพระเกิด นางก็ได้พบกับพระยากุมารสามี อยู่กินด้วยกันณที่นั้นสืบไป จนชราอายุประมาณ ๗๐ ปี ถึงแก่กรรมทั้ง ๒ คน ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้ออกมาเปนคฤหบดีอยู่ที่บ้านพระเกิดเมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า “เจ้าฟ้าคอลาย” (แต่ไม่ปรากฎว่าได้ออกมาโดยเหตุอย่างใดแลออกมาเมื่อใด)

ตั้งแต่นั้นต่อมา อารามทั้ง ๒ ตำบลก็ร้างอันตรายลงเปนลำดับประมาณหลายร้อยปี

(มีเนื้อความดังนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เขียนลงไว้ตามที่รวบรวมได้ควรเชื่อดังข้างบนนั้น เห็นว่าเรื่องนี้เปนเรื่องที่มีบุคคลอยู่จริง แลนางเลือดขาวกับพระยากุมารสามีเปนผู้มีใจศรัทธาได้สร้างวัดหลายตำบล ด้วยเปนผู้มีกำลังที่ได้รับมรฎกจากตายายเปนนายกองส่วยช้างมีผู้คนนับถือมาก มีเหตุผลควรเชื่อว่าจริง คือ วัดที่นางกับสามีได้สร้างไว้ยังเปนหลักถานปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เช่น วัดพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองตรัง ๑ วัดเขียนที่บางแก้วเมืองพัทลุง ๑ วัดสทังใหญ่ที่ตำบลสทังเมืองพัทลุง ๑ เปนต้น แต่เรื่องนางเลือดขาวนี้จะได้เขียนเปนลายลักษณ์อักษรไว้แต่เดิมแล้วหรืออย่างไร ทางสันนิษฐานไม่แน่ แต่อย่างไรก็ดี คงได้คัดเขียนกันครั้งพระครูอินทโมฬีคณะป่าแก้วที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดสทังแลวัดเขียนบางแก้วนั้นเปนแน่ จึงได้มีตำนานเปนลายลักษณ์อักษรเรื่องนางเลือดขาวสืบมาจนทุกวันนี้

เมื่อเห็นเปนมูลความจริงอยู่บ้างดังนี้ จึงได้เขียนไว้ในพงษาวดารตามลำดับ ด้วยเห็นว่า นางกับสามีเปนผู้มีอัทยาศรัยควรชมในทางทำประโยชน์ไว้สำหรับบ้านเมืองตามความนิยมของสมัยนั้น คือ สร้างวัดอันเปนที่เล่าเรียนของกุลบุตรสืบมา ประการหนึ่ง เปนเรื่องที่กล่าวถึงภูมิพื้นเมืองพัทลุงว่า สมัยครั้งกรุงศุโขทัยนั้น เมืองพัทลุงได้ตั้งเปนบ้านเปนเมืองอยู่ที่สทิงพระแล้ว จึงเห็นว่า ควรเขียนไว้ในพงษาวดารระหว่างนี้เนื้อความขาดตอนแต่ไม่ใช่เมืองร้าง คือ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ (จ.ศ. ๗๔๖) ปีชวด ฉอศก ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรครั้งกรุงศรีอยุทธยาโบราณ ได้ส่งลาวเชลยเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองพัทลุง)


ครั้นกาลล่วงมาราว พ.ศ. ๒๐๕๗ (จ.ศ. ๘๗๖) ล่วงแล้ว ครั้งกรุงศรีอยุทธยาโบราณปรากฎว่า พระยาธรรมรังคัลเปนเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งอยู่ที่จะทิ้งพระ (ในอำเภอจะทิ้งพระ แขวงจังหวัดสงขลานี้อิก เห็นจะต่อเนื่องมาแต่เดิม) พระยาธรรมรังคัลได้นิมนต์พระมหาอโนมทัสสีไปเชิญพระมหาธาตุเจ้ามาแต่ลังกาทวีปมาก่อพระเจดีย์สูง ๑ เส้นบรรจุพระมหาธาตุ แล้วสร้างวัดทำอุโบสถศาลาวิหารแลก่อกำแพงล้อมเปนเขตรวัดสูง ๖ ศอกณเชิงเขาพิพัทสิงห์ เรียกว่า “วัดหลวง” แล้วบอกถวายพระราชกุศลเข้าไปกรุง โปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระคชสีห์แลตราพระโกษาธิบดีออกมาเบิกข้าส่วยแลภูมิเรือกสวนไร่นาขาดออกจากส่วยหลวง เปนข้าโปรดคนทานพระกัลปนาไว้สำหรับวัดหลวงสืบไป

ฝ่ายปละท่าตวันตกของทะเลสาปที่ตำบลวัดสทัง ก็มีปะขาวสนผัว นางเป้าเมีย อยู่ที่นั้น เกิดบุตรด้วยกันสี่คน คนที่ ๑ ชื่อ เจ้าอินท์ ที่ ๒ ชื่อ เจ้าเพ็ชร์ ที่ ๓ ชื่อ นางบุตร ได้เปนนางสนม (จะเปนภรรยาน้อยของเจ้าเมืองพัทลุงนั้นเอง) ที่ ๔ ชื่อ นางอ่อนทอง เจ้าอินท์พี่ใหญ่นั้นบวชเปนปะขาวแล้วลงเรือสำเภาจีนเที่ยวไปช้านาน หาได้อยู่กับบิดามารดาไม่ ครั้นอายุได้ ๖๐ ปี เรียนรู้ทางไสยศาสตร์แลอรรถธรรมแล้วจึงกลับมาบ้านเดิม ตกแต่งปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง เจ้าอินท์จึงเอาไม้แก่นแคฝอยแกะเปนรูปนางเลือดขาวขึ้นเปนพระพุทธรูปองค์ใหญ่เปนรูปพระงามไว้ณวัดสทัง เรียกว่า “ประทุมกาศเทวดานางเลือดขาว” วัดสทังจึงเรียกว่า “วัดพระงาม” บ้าง

ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เจ้าอินท์ไปอุปสมบทเปนภิกษุณเมืองนครศรีธรรมราช แล้วก็เข้าไปกรุง ครั้งนั้นที่กรุงมีศึกมาล้อมเมืองอยู่ พระสามีอินท์เข้ารับอาสาขอม้าตัวหนึ่งกับคน ๕๐๐ บวชเปนปะขาวออกทำเวชมนต์ให้ข้าศึกงวยงงมีความกลัวกลับไป (เห็นจะเปนศึกพระเจ้าหงษา (ลิ้นดำ) หรือที่เรียกว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชครั้งแรก เมื่อเชิญเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติพระเจ้าหงษามาตั้งประชิดกำแพงอยู่ ๓ วัน เห็นไทยปรองดองกันดีอยู่ ก็เลิกทัพกลับไป) พระสามีอินท์มีความชอบ จึงเอากระบวนวัดแลพระพุทธรูปที่ได้เลิกพระสาสนา (คือปฏิสังขรณ์) วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง ขึ้นถวายขอพระราชทานเบิกญาติโยมสมัคพรรคพวกให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระสามีอินท์เปนที่พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามุนีศรีราชปัญญาปรมาจาริยานุชิตพิพิธรัตนราชวรวงษ์พงษ์ภักดีศรีสากยบุตรอุประดิษเถรคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง โปรดให้มีตราพระบรมราชโองการเบิกญาติโยมแลไร่นาส่วยสาอากรชาวกุฎีศิลบานทานพระกัลปนาให้ขาดออกจากส่วยหลวง พระราชทานแก่พระครูอินทโมฬีฯ แลห้ามเจ้าเมืองปลัดเมืองกรมการเมืองลูกขุนมุลนายโดยตราพระราชกฤษฎีกาอุทิศไว้ให้เปนข้าพระทั้ง ๒ อาราม ให้ตายายบิดามารดาพระครูอินทโมฬีฯ เปนนายประเพณีแลดำรัสเหนือเกล้าฯ แด่พระยาศรีภูริปรีชาธิราชมหาเสนาบดีศรีสาลักษณ์กรมพระกลาโหมให้เบิกจากพระคลังหลวงเปนสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองมอบให้แก่พระครูอินทโมฬีฯ กับโปรดให้เบิกวัดทั้งแขวงเมืองนครศรีธรรมราชแลเมืองพัทลุง ๒๙๘ วัดมาขึ้นแก่วัดเขียนบางแก้วแลวัดสทัง คือ วัดคูหาสรรค์ ๑ อารามพิกุล ๑ วัดสทิงมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ ๑ วัดพระเจดีย์งาม ๑ วัดชะแม ๑ วัดกลาง ๑ วัดพะเจียก ๑ วัดโรงน้อย ๑ วัดโรงใหญ่ ๑ วัดพะตาล ๑ วัดเหียงพง ๑ วัดพระครูไชยพัท ๑ วัดตำเสา ๑ วัดสนามไชย ๑ วัดโตนดหลาย ๑ วัดพังยาง ๑ วัดชะแล้ ๑ วัดแจระ ๑ วัดพระนอนปากบางแก้ว ๑ วัดพยา ๑ วัดแหลม ๑ วัดพระพุทธสิหิงค์ที่ตรัง ๑ วัดพระงามที่ตรัง ๑ เปนต้น ทั้งนี้ขึ้นแก่วัดสทังวัดเขียนบางแก้ว แลหมู่หัวสิบหัวงานตามท้องพระตำรานี้ก็ให้ขึ้นกับวัดทั้ง ๒ นี้ทั้งสิ้น วัดสทังนั้นมีเลณฑุบาต คือ อาณาเขตรแต่ลำน้ำบางแก้วแล่นไปท่าแม่นางสีพรม ๆ แล่นไปหลาวหลูด ๆ แล่นไปห่านกุลตง ๆ แล่นไปควนชัง ๆ แล่นไปหลักชุมแสง ๆ แล่นไปหลักมะม่วงเถ้านาโหนด ๆ แล่นไปควนยานฝ่ายอุดร ๆ แล่นไปควนกระทุ ๆ แล่นไปกำมะไสย ตั้งแต่คลองกำมะไสยแล่นไปแม่น้ำวัดฝ่ายอุดรควนยาน ๆ แล่นไปเปรวชะเมา (ป่าช้าชะเมา) เปรวชะเมาแล่นไปปากแวตีนทะเลสาบเปนแดน

วัดเขียนบางแก้วมีเลณฑุบาตตั้งแต่แม่น้ำบางแก้วแล่นไปตามแพรกแม่น้ำท่าช้าง ๆ แล่นไปปลายคลองโพศสมา ๆ แล่นไปด่านฟ้ารั่ว ๆ แล่นไปหานเลน ๆ แล่นไปกระหวะ ๆ แล่นไปพยาเตย ๆ แล่นไปแก่งตาเสียด ๆ แล่นไปลำน้ำพระเกิดลงไปจดชายทะเลสาปเปนแดน

แล้วพระครูอินทโมฬีฯ กลับออกมาอยู่วัดสทัง มีที่พระกัลปนา ๒๔ หัวงาน วัดเขียนพระมหาสีราชเปนเจ้าอธิการตามเดิม มีที่พระกัลปนา ๑๔ หัวงาน แลข้าโปรดคนทานพระกัลปนาโปรดพระราชทานตัดขาดออกจากราชการหลวงให้เปนข้าพระโยมสงฆ์สำหรับตกแต่งวัดทั้งสิ้น แม้เกิดอรรถคดี เว้นแต่ความฆ่ากันตาย นอกจากนั้นนายประเพณีแลพวกหัวสิบหัวงาน (คือนายของหมวด ๑ ๆ ซึ่งขึ้นกับนายประเพณีหัวหน้าของวัด) ชำระว่ากล่าวเด็ดขาดได้ ครั้งนั้นเจ้าเมืองพัทลุง (เห็นจะเปนพระยาธรรมรังคัล) ก็มาสร้างพระพุทธรูปเรียงไว้ ๗ องค์ณวัดเขียน (จะเปนพระที่เรียกกันว่า “พระกุลา” เปนพระสมาธิองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้งก่อด้วยแลงเรียงไว้ห่าง ๆ กันราว ๑๐ หรือ ๑๕ วาบ้าง มีต้นไม้ใหญ่งอกแซกขึ้นที่ฐาน เดี๋ยวนี้พังทลายลงมากองอยู่ที่ฐานดินซึ่งพูนเปนโคกรับฐานปูนไว้นั้น ยังเปนรูปพระเศียรอยู่บ้างท่อนพระกรบ้าง ขนาดท่อนพระกรโดยกลมประมาณ ๓ คืบ พระเศียรยาวแต่พระนลาตริมพระเกษลงมาปลายพระหณุประมาณ ๑ ศอกคืบ ฝ่าพระบาทใหญ่โดยกว้าง ๑๕ นิ้วครึ่ง ที่สาปสูญเสียก็มี)

ฝ่ายที่เมืองพัทลุง (จะทิ้งพระ) แผดงศรีภิรมย์เห็นว่า ที่บนภูเขาพิพัทสิงห์มีรอยพระพุทธบาทอยู่ (ได้พิเคราะห์ดูแล้วเห็นจะเปนธรรมดาศิลานั้นเอง) จึงขอต่อพระนาไลยมุย (เห็นจะเปนเจ้าอธิการวัดหลวง) ทำพระวิหารแลก่อรูปพระโคะขึ้นบนภูเขาพิพัทสิงห์ จึงเรียกว่า “เขาพระโคะ” แต่นั้นมา (ที่เรียกว่าพระโคะนี้จะเปนรูปอะไรก่อขึ้นไว้ฟังไม่ได้เรื่องราวเลย เห็นจะเปนพระโคซึ่งเปนเทวพาหนะของพระอิศวร ด้วยเปนที่นับถือของไทยแต่โบราณจึงก่อรูปไว้บูชา ครั้นกาลนานมาก็กลายเปนพระโคะ คือจะมีเขม่าหรือเส้นอะไรของกระดาดเพลาแต้มเปนจุด ๆ อยู่หลังโค แลเข้าใจว่าเปนสระอะ จึงอ่านโคเปนโคะ เช่น คำค้อยของชาวเมืองสงขลาเดี๋ยวนี้ เดิมจะได้เห็นหนังสือกรุงเทพฯ ซึ่งเปนหนังสือหวัดกลาย ๆ ซึ่งเขียนว่า “ด้วย” นั้นเอง ผู้อ่านไม่เข้าใจคำกรุงเทพฯ ทั้งดูหนังสือหวัดไม่แน่ จึงอ่าน “ด้วย” เปน “ค้อย” ไป แต่สำเนียงบ้านนอกเรียกอักษรไม่ชัดเรียก ค้อย เปน ข่อย เช่นคำว่า “ค้าขาย” บ้านนอกเรียกเปน “ข่าค้าย” แลคำค้อยนั้นที่ประโยคกับคำหน้าก็ตรงกับคำ ด้วย ทุกคำ เช่น คำว่า กินค้อย ไปค้อย มาค้อย ดังนี้ ก็เปนคำตรงกับคำด้วยทั้งสิ้น เหตุดังกล่าวนี้ คำพระโคจึงกลายเปนพระโคะมาจนทุกวันนี้)

ต่อมาพระจวงเจ้าขอต่อพระนาไลยมุยมาตั้งอยู่ที่บนเขาพระโคะกระทำบูชารอยพระพุทธบาทอยู่ที่นั้นเปนช้านาน (เห็นจะมาขออาศรัยกระทำสังฆกิจอยู่บนภูเขานั้น)

ครั้นกาลล่วงมาพระสามีรามซึ่งไปเรียนหนังสือฝ่ายปริยัติธรรมณกรุงเปนผู้ชำนาญ ได้แปลธรรมชนะพราหมณ์ชาวสิงหฬ ได้ความชอบทรงโปรดปรานมาก ครั้นกลับออกมาจึงคิดอ่านด้วยพระครูสัทธรรมรังษีพุทธบวรมาจารย์ (พระครูสัทธรรมรังษีจะเปนเจ้าอธิการวัดหลวงต่อจากพระนาไลยมุย แลจะเปนเจ้าคณะผู้ใหญ่ด้วย) พระครูสัทธรรมรังษียินยอมด้วย พระสามีรามจึงเข้าไปกรุงขอพระราชทานเบิกญาติโยมออกจากส่วยหลวง แล้วโปรดพระราชทานที่นา แลกัลปนา แลต้นตาลญาติโยมออกจากส่วยหลวง ๙ หัวงาน เปนข้าโปรดคนทานพระกัลปนาขึ้นวัดพระโคะ โปรดให้มีเลณฑุบาตทิศเหนือถึงเขาพังไกรแลควนชลิก ทิศใต้จดเขาเขียวแลเขาแดง ทิศตวันออกจดทะเลเค็ม ทิศตวันตกจดทะเลสาป แล้วโปรดตั้งให้พระสามีรามเปนพระราชมุนี ครั้นกลับออกมาจึงก่อพระเจดีย์บรรจุพระศรีรัตนมหาธาตุสุงเส้น ๕ วา ทำด้วยจะลุ้งทองแดง (เข้าใจว่าจะหุ้มทองแดงที่ยอด) มีระเบียงรอบพระเจดีย์ ทำศาลาวิหารอุโบสถขึ้นบนเขาพระโคะ เรียกว่า “วัดพระโคะ” แลอาณาเขตรเหล่านั้นเรียกว่า “ที่พระโคะ” แต่นั้นมา

แลครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ออกเมืองราชแสนมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง โปรดให้บรรทุกอิฐมาช่วยทำพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์นี้ด้วย พระราชมุนีก็ได้เปนเจ้าอธิการวัดพระโคะต่อมา (มีคำเล่าลือว่า ท่านพระโคะผู้นี้มีบุญแลมีอภินิหารต่าง ๆ ชาวเมืองแถวนั้นเรียกว่า “ท่านเจ้าพระโคะผู้มีบุญ” นับถือกันว่าเปนเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์มาจนทุกวันนี้ แลที่เรียกว่ารอยพระบาทนั้นก็กลายเปนรอยเท้าท่านพระโคะไป) ต่อมาพระราชมุนี พระครูสัทธรรมรังษี พระมหาเถรพุทธรักขิต พระครูบุตรเทพ แลหมื่นเทพบาล สร้างวัดในถ้ำคูหาสวรรค์ในที่ราบของพ่อขุนศรีชนาพยาบ้านปลัดเมืองพัทลุง ทำพระพุทธรูป ๒๐ องค์ แลก่อมาลิกเจดีย์ ๗ องค์ แล้วถวายพระราชกุศลเข้าไปกรุง โปรดให้มีพระตำราตราโกษาธิบดียกญาติโยมแลภูมิสัตวไร่นาอันมีในที่นั้น ๑๒ หัวงานขาดออกจากส่วยหลวงเปนศิลบานทานพระกัลปนาสำหรับวัดคูหาสวรรค์สืบไป

ต่อมาออกพระสุรัสราชาออกมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง นิมนต์พระมหาเถรผู้มีอายุ (ไม่ปรากฎนาม) ให้ก่อพระมหาธาตุเจดีย์สูงเส้น ๑ วา แลพระวิหารพระธรรมศาลา พระพุทธรูปพระโมคคัลลาน์พระสาริบุตรฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาไว้ในกลางเมืองพัทลุง (จะเปนวัดจะทิ้งพระเปนวัดเก่าสืบต่อมาจนทุกวันนี้) แล้วเอากระบวนที่ได้สร้างวัดนั้นเข้าไปกรุงถวายพระราชกุศล จึงมีพระราชศรัทธาโปรดให้มีพระตำราตราโกษาธิบดียกญาติโยมที่ภูมิสัตวไร่นาโตนดต้นตาลในที่นั้นขาดออกจากส่วยหลวง เปนข้าโปรดคนทานพระกัลปนาสำหรับพระอารามนั้นสืบไป

ต่อมาออกหลวงเยาวราชมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นอาเจะอารูมารบเสียเมืองแก่อาเจะอารู ๆ กวาดครัวไป (จะเปนสลัด) ด้วยมีคำเล่าลือว่า สลัดมาตีเมืองได้แล้วกวาดครัวติดท่านพระโคะผู้มีบุญไปด้วย ท่านพระโคะจึงทำอภินิหารต่าง ๆ จนพวกสลัดมีความเกรงกลัว พาตัวท่านกลับมาส่งไว้ณที่เดิม) ทราบความถึงกรุงโปรดเกล้าฯ ให้แผดงศรีราชปัญญาถือท้องตราออกมาเอาตัวเจ้าเมืองกรมการ ออกหลวงเยาวราชเจ้าเมืองเกรงกลัวพระราชอาญา จึงกินยาตายเสีย ได้แต่ขุนศรีชนาปลัดกับครอบครัวจำตรวนเข้าไปกรุง ให้ลงพระราชอาญาจำตรวนขังไว้

ครั้งนั้นช้างต้นตกน้ำมันออกจากโรง หมอควาญเอาไม่ได้ หมื่นอินทรพงษาบุตรขุนศรีชนาจับช้างนั้นได้เอาเข้าโรง หมื่นอินทรพงษาบุตรขุนศรีชนามีบำเหน็จแก่ราชการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานโทษขุนศรีชนาออกจากที่ขัง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เปนปลัดเมืองตามเดิม ให้หมื่นอินทรพงษาบุตรขันศรีชนาเปนขุนคชราชาหัวพันส่วยกลับออกมาอยู่เมืองพัทลุงต่อไป แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ออกเมืองภักดีกรเทพออกมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง เกลี้ยกล่อมไพร่ส่วยที่สัดพลัดอยู่นั้นให้กลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ออกขุนทรเนตรณเทพ (ขุนทรเนนทรเทพ) แลจ่าพันภายณราช (พันภาณุราช) เชิญท้องตราออกมาตั้งกองเรียกส่วยณเมืองนครศรีธรรมราชแลเรียกส่วยเมืองพัทลุงด้วย

ต่อมาออกเมืองคำได้เปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นมีศึกอุชํงคํตํนํ (บางแห่งเรียก “อุยงตะนะ” หรือสลัด) มาตี เสียเมืองแก่ข้าศึก ออกเมืองคำหนีรอดไปได้ ข้าศึกกวาดได้แต่ครอบครัวกรมการแลสมณะชีพราหมณ์ราษฎรข้าพระโยมสงฆ์ได้ไปแก่อชํงคํตํนํเปนอันมาก แลเผากุฎีวิหารบ้านเรือนราษฎรเสียสิ้น ครั้งนั้นเจ้าเมืองหาเปนโทษไม่ ด้วยศึกเหลือกำลัง โปรดเกล้าฯ ให้เปนเจ้าเมืองดังก่อน ให้เกลี้ยกล่อมส้องสุมราษฎรที่กระจัดพลัดพรายอยู่นั้นเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา จัดการรักษาบ้านเมืองต่อไป (ครั้งนี้ข้าศึกกวาดครอบครัวไปมาก เห็นจะเอาตัวพระราชมุนี (ท่านพระโคะ) ไปด้วย ด้วยมีตำนานหรือประวัติของพระราชมุนี (ท่านพระโคะ) กล่าวว่า ท่านหาได้ตายอย่างคนธรรมดาไม่ อยู่ ๆ ก็หายสูญไปโดยอิทธิฤทธิ์แลต่อไปก็ไม่ได้กล่าวถึงท่านผู้นี้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งเลย จึงเห็นว่าคงจะสูญไปด้วยข้าศึกสลัดครั้งนี้นั้นเอง)

ครั้งนั้นให้เรียกส่วยแต่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุงหาเรียกไม่ (เห็นจะเปนเพราะถูกสลัดมารบยับเยินมาก)

ต่อมาออกขุนเทพตำรวจเปนเจ้าเมืองพัทลุง (ประมาณราวแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ) ครั้งนี้มีผู้ศรัทธาสร้างพระเจดีย์วิหารหลายวัดหลายตำบล คือ:—

๑. พระมหาเทพ ทำพระวิหารแลเจดีย์ตำบลวัดแจระ (บางแห่งเรียกหัวแจระ)

๒. พระครูธรรมรังษี ลํราม ทำพระวิหารตำบลวัดเบิก (อยู่ที่อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๓. พระครูพิไชย ทำพระวิหารตำบลวัดชะแม (อยู่ที่อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๔. พระมหาเถรพรม ทำพระวิหารตำบลวัดนามีไชย (หรือสนามมีไชย อยู่ที่อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๕. พระมหาเถรรัตนเทพ ทำพระวิหารตำบลตำเสา (หรือเสี่า) อ่านเปนสี่เสา (นัยว่าเปนวัดกระดังงา อยู่ในอำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๖. พระครูสุวรรณคีรี ทำพระวิหารในวัดชะแล้ (อยู่ที่อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๗. พระมหาเถรพรม ทำพระวิหารตำบลวัดบ่อโด

๘. พระมหาเถรโสม พระมหาเถรพงศ์ ทำพระวิหารวัดโรง (อยู่ในอำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๙. พระมหาเถรเทพ ทำพระวิหารวัดพระเจดีย์งาม (อยู่ที่อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา)

๑๐. พระครูธรรมเทวกรบวรมณีศรีธรรมาธิบดี หัวเมืองพัทลุง ณเขาบรรพตพระโคะ แลปลัดวินัยธร พร้อมด้วยพระครูมังคลราชรูจีศรีสัทธรรมเถียร หัวเมืองนครศรีธรรมราช เข้าไปกรุงร้องต่อสมเด็จพระสังฆราชาบดีศรีสังฆปรินายก ๆ จึงทำฎีกาให้ออกพระศรีภูริปัญญาธิราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอเบิกญาติโยมแลศิลบานทานพระกัลปนา ตามที่สมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้าทรงอุทิศไว้แต่ก่อน (ที่เรียกว่า พระอัยกา คือ สมเด็จพระเทียรราชา พระอัยกาของสมเด็จพระเอกาทศรฐ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระตำราพระราชอุทิศไว้ดุจพระตำราของสมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้าทรงอุทิศไว้แต่ก่อน วัดเหล่านี้อยู่ฝ่ายปละท่าตวันออก

แต่ฝ่ายปละท่าตวันตกในที่ราบของพ่อขุนศรีชนาพยาบ้าน (ปลัดเมือง) ในตำบลคูหาสวรรค์นั้น (ที่เรียกว่า ปละท่าตวันออกตวันตก หมายความเอาฝั่งทะเลสาปเมืองพัทลุง) พระมหาเถรสุนทรธรรม พระมหาเถรอิน พระมหาเถรพรม เข้าไปกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา ทำฎีกาให้ออกพระศรีภูริปัญญาธิราชสเนาบดีศรีสารลักษณ์นำกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเบิกญาติโยมแลสมัคพรรคพวกออกจากส่วยหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้มีท้องตราพระโกษาธิบดีเบิกญาติโยมสำหรับวัดคูหาสวรรค์ไว้ตามเดิมชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์

ครั้งนั้นพระมหาอินทำพระวิหารในตำบลวัดป่าชันวัดหนึ่ง เมื่อเสียเมืองแก่ข้าศึกอุยงตะนะแล้ว ขุนเสนาปลัดเมืองได้สร้างวัดสทังน้อยขึ้นที่ชายทะเลสาปวัดหนึ่ง มีข้าพระแลภูมิสัตวไร่นา ๑๓ หัวงาน พระมหาเถรเทพปัญญาเปนเจ้าอธิการ วัดสทังนางเลือดขาวจึงเรียกว่า “วัดสทังใหญ่” บ้าง “วัดพระงาม” บ้าง “วัดพระงามสทังใหญ่” บ้าง เปน ๓ ชื่อ

ต่อมาตาตุมะระหุ่ม เปนแขกนับถือสาสนาอิศลามมาแต่เมืองสาลัย มาขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เปนเจ้าเมืองพัทลุง ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่หัวเขาแดงปากน้ำ (เข้าใจว่าคงจะมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณนี้มาแต่ก่อนนานแล้ว ภายหลังจึงได้เปนเจ้าเมืองพัทลุง) เมื่อถึงอนิจกรรมแล้ว ฝังศพไว้ที่หัวเขาแดงปากน้ำเมืองพัทลุง (ซึ่งเปนเมืองสงขลาเดี๋ยวนี้ ด้วยเปนที่เหมาะแก่ความถาวรต่อไปภายหน้า เพื่อมิให้ศพนั้นสูญไป ศพจึงยังมีปรากฎเปนเทพารักษ์อยู่จนทุกวันนี้) ตาตุมะระหุ่มนี้ได้เปนต้นวงศ์ของสกุลณพัทลุงเดี๋ยวนี้ แลมีน้องชายคนหนึ่งชื่อมะระโหม มาตั้งอยู่ที่ตำบลชรัด ศพที่ฝังไว้ยังปรากฎเปนเทพารักษ์อยู่ที่ตำบลชรัด แขวงเมืองพัทลุงจนทุกวันนี้

ต่อมาเพรีชีผัว เพรีมุยเมีย ตายาย นายใหญ่ กับหมื่นจันหัวปากนางหรง หมื่นอินทรทรงศักดิ์ หมื่นจ่าเทียนหัวปาก พวกพ้อง เข้าไปขอพระราชทานโปรดให้เพรีชีเปนเจ้าเมืองพัทลุง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่เขาไชยบุรี (เขาเมือง) ฝ่ายปละท่าตวันตกทะเลสาปคือฝั่งเมืองพัทลุงเดี๋ยวนี้ (ด้วยเพรีชีเปนชาวบ้านนางหรงฝั่งตวันตกใกล้กับเขาไชยบุรี อิกประการหนึ่ง เปนที่มั่นคงแก่การป้องกันข้าศึกแลพ้นจากพวกสลัดมารบกวนด้วย เมืองที่ตั้งอยู่ปละท่าตวันออกนั้นอยู่ใกล้ทะเลเค็ม สลัดอาจจู่มารบกวนได้บ่อย ๆ ทั้งเสียเมืองแก่สลัดด้วย จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่เขาไชยบุรี แต่จะตั้งอยู่ไม่นานเท่าใด ต่อมาภายหลังเมื่อผลัดเปลี่ยนเจ้าเมือง จะได้ย้ายไปตั้งเสียที่อื่นบ้าง แลที่ควนแร่ ตำบลควนมะพร้าว เดี๋ยวนี้ ได้ตั้งเมืองครั้งหนึ่งเปนแน่ ด้วยมีคำเล่าบอกสืบกันมาว่า ที่ควนแร่เปนที่ตั้งเมืองเก่าครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งมีคูเมืองแลมีอิฐก่อเปนทำนองกำแพงอยู่ริมคูเมืองปรากฎอยู่ทุกวันนี้)

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนหลวงศรีสาครเปนเจ้าเมืองพัทลุง ให้ขุนเทพสงครามเปนปลัด

ต่อมาพระยาจักรีผู้เปนออกญานครศรีธรรมราชแลเปนเจ้าเมืองไชยามาเปนเจ้าเมืองพัทลุง (จะเปนลูกหลานหรือวงศ์ญาติเจ้าเมืองนครฯ แต่คงเปนเจ้าเมืองไชยาย้ายเปนเจ้าเมืองพัทลุง)

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกหลวงเพ็ชร์กำแหงออกมาเปนเจ้าเมืองพัทลุง ครั้งนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๒ (จุลศักราชตรงกับแผ่นดินพระเจ้าเสือ) พระครูอินทรเมาฬีศรีญาณสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุประดิษเถร คณะป่าแก้วเมืองพัทลุง ได้เลิกพระสาสนา คือ ปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้ว แล้วเข้าไปร้องขอต่อสมเด็จพระพลรัตน์ราชกระวีศรีสังฆราชสงฆปรินายกติปิฎกปรมัตถาดิลกโลกาจาริย์อาริยกัศยบมหรรณพปรีชามหาสามีรูจีจิตรบพิตร สถิตย์ในวรรัตนารามพระสังฆราชป่าแก้ววัดเจ้าพระยาไทยอารามหลวงณกรุงทวาราวดี (กรุงเก่า) สมเด็จพระพลรัตน์จึงให้พระนิโครธเถรอธิการวัดบูรพารามนำถวายพระพร ขอเบิกญาติโยมแลส่วยสาอากรศิลบานทานพระกัลปนาสำหรับวัดเขียนวัดสทังดุจดังก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระตำราพระราชอุทิศไว้ ดุจพระตำราพระมหากระษัตริย์เจ้าแต่ก่อนทรงพระราชอุทิศไว้นั้น

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกหลวงไชยราชาราชสงครามมาครองเมืองพัทลุง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปรั้งเมืองนครศรีธรรมราช

โปรดเกล้าฯ ให้พระยาแก้วโกรพพิไชยเชฐ์วิเศษราชกิจพิพิธภักดีอภัยพิริยะพาหะเปนออกญาพัทลุงต่อไป

ครั้นปีมะเส็ง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๒๙๑ (จ.ศ. ๑๑๑๐) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระบรมโกษ) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) บุตรของลูกชายตาตุมะระหุ่มเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งเข้าไปรับราชการอยู่ณกรุงนั้นออกมาเปนผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง เปนเมืองทำนองประเทศราช ได้ถวายต้นไม้ทองเงินทุกปี (เห็นจะเปนเมืองประเทศราชมาแต่โบราณ) มีเมืองจัตวา ๔ เมืองเปนเมืองขึ้น คือ เมืองปะเหลียน ๑ เมืองจะนะ ๑ เมืองเทพา ๑ เมืองสงขลา ๑ (เมืองสงขลานี้เดิมเปนด่านปากน้ำเมืองพัทลุง ได้ยกขึ้นเปนเมืองจัตวา ด้วยเปนทำเลที่ค้าขายบริบูรณ์ผู้คนชุกชุม) แลคงขึ้นอยู่กับเมืองพัทลุงต่อไป แต่จะได้ยกขึ้นเปนเมืองเมื่อปีใดไม่ปรากฎ พระยาราชบังสัน (ตะตา) เปนเชื้อแขกนับถืออิศลามได้ตั้งอยู่ที่เขาไชยบุรี (เขาเมือง) ครั้งนั้นได้ก่อสร้างป้อมกำแพงเชื่อมกับภูเขาล้อมเมืองไว้ มีปืนบาเหรียม ๒ กระบอกประจำเมือง (แต่จะได้มาจากไหนหรือสร้างขึ้นไม่ปรากฎ) พระยาราชบังสันว่าราชการอยู่ ๑๕ ปี ถึงอนิจกรรม

แล้วพระภักดีเสนาบุตร พี่ชายพระยาราชบังสัน (ตะตา) ได้เปนผู้ว่าราชการเมืองต่อมา ๕ ปี ถึงแก่กรรม

รวมเมืองตั้งอยู่ที่เขาไชยบุรี (เขาเมือง) ครั้งนี้ ๒๐ ปี

ครั้น พ.ศ. ๒๓๑๐ (จ.ศ. ๑๑๒๙) กรุงเสียแก่พม่าข้าศึก


ครั้งนั้นพระราชอาณาจักรก็เปนจลาจล ต่างคนก็ตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าเอกราช ฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถึงอนิจกรรม พระปลัดจึงตั้งตัวขึ้นเปนเจ้านครศรีธรรมราช ให้หลานชายมาเปนผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ด นัยหนึ่งเรียกว่าตำบลปราน กับให้กรมการไปเปนหลวงสงขลารักษาปากน้ำเมืองพัทลุงด้วยผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ว่าราชการอยู่ ๒ ปี ถึงแก่กรรม

แล้วเจ้านครให้พระยาพิมลขันธ์ ผัวท้าวเทพสัตรีเมืองถลาง มาเปนผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง (แต่เวลานั้นแตกร้าวกันกับท้าวเทพสัตรี แลท้าวเทพสัตรียังไม่มีชื่อ ด้วยพม่ายังไม่มาตีเมืองถลาง) พระยาพิมลขันธ์ตั้งเมืองที่ตำบลควนมะพร้าว ภายหลังเรียกบ้านนั้นว่า “บ้านพระยาขันธ์” อยู่ในตำบลพระยาขันธ์เดี๋ยวนี้) ว่าราชการอยู่ ๒ ปี

ครั้น พ.ศ. ๒๓๑๑ (จ.ศ. ๑๑๓๐) ปีชวด พระเจ้าตากเสด็จขึ้นปราบดาภิเศกเปนพระเจ้าแผ่นดินในกรุงธนบุรีแล้ว ถึงปีฉลู เอกศก พ.ศ. ๒๓๑๒ (จ.ศ. ๑๑๓๑) เสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระยาพิมลขันธ์มีความกลัว หนีไปเมืองแขกกับด้วยเจ้านครฯ ครั้นพระเจ้าตากได้ตัวเจ้านครมาจากเมืองแขกปัตตานีแล้ว ก็เสด็จกลับกรุงธนบุรี ส่วนเมืองนครฯ แลเมืองพัทลุงนั้น โปรดให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงษ์ อยู่ครองเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้นายจันมหาดเล็กมาว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บ้านม่วง ตำบลพยาขันธ์เดี๋ยวมี้ นายจันมหาดเล็กว่าราชการอยู่ ๓ ปี ถอดออกจากราชการ (ครั้งนั้นเมืองพัทลุงสงขลาคงจะขึ้นเจ้านราสุริยวงษ์ผู้ครองเมืองนครฯ แต่ไม่ปรากฎในหลักถานใด ๆ )

พ.ศ. ๒๓๑๕ (จ.ศ. ๑๑๓๔) โปรดเกล้าฯ ตั้งนายขุนบุตรพระราชบังสัน (ตะตา) เปนพระยาแก้วเการพพิไชยฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ได้เปลี่ยนวิธีอิศลามนับถือพระพุทธสาสนาสืบ ๆ มาถึงบุตรหลานทุกวันนี้ ได้ตั้งเมืองที่บ้านลำปำ ตำบลโคกลุง (ชาวเมืองเรียกกันว่า “พระยาพัทลุงคางเหล็ก” ๆ ได้ท่านแป้น บุตรีท่านเศรษฐีเต็ม บ้านโตระ เมืองพัทลุง เปนคุณหญิง ซึ่งเปนบิดามารดาคุณจอมมารดากลิ่นในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต)

อนึ่งพระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งมีนามปรากฎว่าพระยาพัทลุงคางเหล็กนี้ มีอยู่ ๒ นัย ๆ หนึ่งว่า เมื่อครั้งคุมทัพเรือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ไปตีเมืองแขกปัตตานี พวกกองทัพอดน้ำ ท่านจึงเอาเท้าแช่ลงในทะเล ก็บรรดาลน้ำเค็มนั้นจืด พวกพลได้ตวงตักไว้รับประทานรอดพ้นความกันดารไป ภายหลังพระยานครฯ ฟ้องว่าทำน้ำเค็มให้จืดได้จะเปนขบถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระกระทู้ถาม ท่านแก้ว่า พวกพลอดน้ำได้ความลำบากกันดารนัก จึงเสี่ยงเอาพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว น้ำในทะเลจึงบรรดาลจืดได้ พวกพลได้รับประทานเปนกำลังรับราชการต่อไป หาใช่ด้วยอำนาจวาศนาของท่านเองไม่ เปนคำที่แก้ถูก กลับได้ความชอบ

อิกนัยหนึ่งว่า เมื่อครั้งพระเจ้าตากเสียพระสติ รับสั่งถามข้าราชการว่า ใครจะตามเสด็จกูขึ้นสวรรค์ได้บ้าง ต่างคนก็นิ่งอยู่ พระยาพัทลุง (ขุน) จึงทูลว่า เปนอันเหลือนิสัยผู้หาบุญมิได้จะตามเสด็จขึ้นสวรรค์ในเวลายังมีชีวิตรอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าจะคอยตามเสด็จเมื่อหาชีวิตรไม่แล้ว พระเจ้าตากโปรดว่าพูดถูก คนอื่นหรือจะมีบุญญาธิการเหมือนพระองค์ เปนคำที่กล้ากล่าวทูลเพื่อเตือนพระสติ จึงมีนามว่า “คางเหล็ก”

ครั้นปีมะเส็ง เบ็ญจศก พ.ศ. ๒๓๑๖ (จ.ศ. ๑๑๓๕) โปรดให้ข้าหลวงออกมาเปนแม่กองสักเลขท้องมือ อยู่มาในปีมะแมหรือปีวอก เดือน ๕ เจ้านราสุริยวงษ์สั่งให้เมืองพัทลุงทอม่วงดอก ๗ สีเก็บหน้าเชิงกรวย ๕๐๐ ผืน คราวนั้นต้องเกณฑ์ผู้หญิงสาวแก่แม่หม้ายทอผ้าทั้งกลางวันกลางคืน ครั้นปีวอก อัฐศก พ.ศ. ๒๓๑๙ (จ.ศ. ๑๑๓๘) กลางปี เจ้านราสุริยวงษ์พิลาลัย พระเจ้าตากโปรดตั้งเจ้านครฯ (คนเก่า) เปนพระเจ้าประเทศราช ออกมาครองเมืองนครศรีธรรมราชอิก โปรดให้มีตำแหน่งเสนาบดีจัตุสดม ๔ แลมหาดเล็กสำหรับเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมประดุจพระเจ้าแผ่นดิน


ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ (จ.ศ. ๑๑๔๔) พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เสด็จขึ้นปราบดาภิเศกเสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชดำรงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) คงรับราชการเปนพระยาพัทลุงต่อไป ครั้นปีมะโรง ฉอศก พ.ศ. ๒๓๒๗ (จ.ศ. ๑๑๔๖) โปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระจ้านครฯ ออกจากผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพัทบุตรเขยเจ้านครฯ เปนเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชออกมาครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป

ครั้นถึงปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ (จ.ศ. ๑๑๔๗) โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกมาสักเลขทั้งเดิมทั้งขึ้นเมืองพัทลุง ครั้งนี้สักหลังมือทั้งสิ้น ทำเนียบศักดินาข้าราชการก็จัดเปนเมืองโทแต่นั้นมา (ส่วนธรรมเนียมถวายต้นไม้ทองเงินยังคงต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕)) ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ (จ.ศ. ๑๑๔๗) ปีมะเส็ง สัปตศก ปลายปีนั้น พม่ายกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชวังบวรเสด็จยกทัพหลวงออกมาตีทัพพม่าแตกไปหมดทุกทัพทุกกอง แล้วเสด็จเลยไปประทับที่เมืองสงขลา ปราบแขกเมืองปัตตานีต่อไป

ฝ่ายพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) กับพระมหาช่วย วัดป่า แขวงเมืองพัทลุง ผู้มีความรู้ในทางไสยศาสตร์ ลงเลขยันต์ตะกรุดผ้าประเจียดให้พวกพลแต่งทัพออกรับพม่าที่ตำบลคลองท่าเสม็ด พม่าได้มาตั้งค่ายประชิดเข้าแล้วคนละฟากคลอง แต่หาได้รบกันไม่ พม่าเลิกทัพกลับไปเสีย (ที่พม่าตั้งค่ายเรียกว่าทุ่งค่าย อยู่ในแขวงเมืองนครฯ จนทุกวันนี้) พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) กับด้วยพระมหาช่วยก็เลิกทัพกลับไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ณเมืองสงขลา กราบทูลความชอบพระมหาช่วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาช่วยลาอุปสมบท แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เปนพระยาทุกขราษฎร์ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง แลครั้งนั้นพระยาจะนะ (เณร หรืออินท์) น้องพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) คิดมิชอบ ลอบมีหนังสือถึงพม่าข้าศึก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ผู้พี่เปนตุลาการชำระเปนสัตย์ รับสั่งถามพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ผู้พี่ว่า จะควรประการใด พระยาพัทลุงกราบทูลว่า ควรประหารชีวิตรตามบทพระอัยการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประหารชีวิตรพระยาจะนะ (เณร หรือ อินท์) เสียตามคำตัดสินของพระยาพัทลุงผู้พี่ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) เปนแม่กองคุมทัพเมืองพัทลุงแลไพร่พลเมืองจะนะเปนทัพเรือโดยเสด็จไปตีเมืองแขกปัตตานี ครั้นตีเมืองปัตตานีได้ปราบปรามราบคาบแล้ว ก็กลับกรุงเทพฯ

แลครั้งนั้นทรงเห็นว่า เมืองสงขลาเปนเมืองหน้าศึก ควรเปนเมืองสำคัญ จึงนำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นเปนเมืองตรีขึ้นต่อกรุงเทพฯ เลื่อนหลวงสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเปนพระสงขลาใน พ.ศ. ๒๓๒๙ (จ.ศ. ๑๑๔๘) กับโปรดให้ยกเมืองจะนะเทพาขึ้นกับสงขลาแต่นั้นมา (ในพงษาวดารสงขลาว่ายังขึ้นนครฯ (จ.ศ. ๑๑๕๓) พระยาสงขลาเปนเจ้าพระยา จึงยกเปนเมืองเอกขึ้นต่อกรุงเทพฯ)

พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ว่าราชการอยู่ ๑๗ ปี ครั้น พ.ศ. ๒๓๓๒ (จ.ศ. ๑๑๕๑) ปีระกา เอกศก ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ อนึ่ง สมัยพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) นี้ มีชีพ่อพราหมณ์คณะหนึ่งเปนสกุลพราหณ์รามราช ได้เปนพราหมพิธีสำหรับราชการสืบ ๆ มาแต่โบราณช้านาน (แต่เสียดายที่ไม่ปรากฎว่าพราหมณพวกนี้ได้มาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุงเมื่อศักราชเท่าใด แต่คงไม่ต่ำกว่าเมื่อครั้งเมืองตั้งอยู่ที่จะทิ้งพระ ด้วยมีหลักถานปรากฎว่า ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาได้ค้นพบพระนารายน์เทวะรูปที่เมืองเก่าของพัทลุงที่จะทิ้งพระ เอาไปไว้ที่ศาลเจ้าหลักเมือง ๆ สงขลาซึ่งเปนเทวะรูปหล่อด้วยสำริดประมาณขนาดสูงศอกเศษโต ๓ จับ ยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ พราหมณ์พวกนี้ได้เปนพราหมณ์พิธีสืบบุตรหลานต่อมาจนเดี๋ยวนี้ เวลานี้นับถือพระพุทธสาสนากับพระอินศวรนารายน์ปนกัน ได้ตั้งเทวะสถานอยู่ที่ตำบลลำปำ จังหวัดพัทลุง (กิริยาแลผิวพรรณก็ไทยนี้เอง) ชาวเมืองมีความนับถือมาก แม้มีการโกนจุกหรือทำบุญสวดมนต์เรือน ก็เชิญพราหมณ์ไปทำพิธีสวดทางวิษณุอิศวรเวชด้วยเสมอ

ครั้นพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงอนิจกรรมแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกรลาศ คนกรุงครั้งพระเจ้าตาก ให้อยู่ช่วยราชกา พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงษ์ ณเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มาเปนผู้ว่า ราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บ้านลำปำที่ตำบลศาลาโต๊ะวัด ๒ ปี

ครั้นปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๒๓๓๔ (จ.ศ. ๑๑๕๓) แขกโต๊ะหะยีเมืองเซียะกับแขกเมืองปัตตานีรวมกันมาตีเมืองสงขลาได้ พระยาสงขลาหนีมาอาศรัยเมืองพัทลุง เจ้าพระยานครฯ ทราบความก็ยกทัพมารบตีเอาเมืองสงขลากลับคืนได้ แล้วภายหลังกองทัพกรุงยกมาถึงเมืองสงขลา แต่หาทันได้รบกันไม่ ฝ่ายพระยาศรีไกรลาศผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงมีความตื่นตกใจกลัวพาครอบครัวหนีเข้าป่าก่อนศึกมาติดเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกมาถอดจากเจ้าเมืองแล้วจำส่งไปกรุงเทพฯ

ในปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๒๓๓๔ (จ.ศ. ๑๑๕๓) นั้น โปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายศักดิ์ (ทองขาว) นายเวรมหาดเล็กบุตรพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ซึ่งเปนแม่กองออกมาในกองทัพกรุงครั้งนั้น อยู่รั้งเมืองพัทลุง แลในปีนั้นโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเปนเจ้าพระยาสงขลาด้วยเห็นว่าเปนเมืองสำคัญหลวงนายศักดิ์ว่ารั้งอยู่ ๒ ปี ถึงปีชวด จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๓๕ (จ.ศ. ๑๑๕๔) โปรดเกล้าฯ ให้เปนพระยาแก้วโกรพพิไชยผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง พระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์ด้วย ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลลำปำฝั่งเหนือ ตั้งจวนที่บ้านสวนดอกไม้เดี๋ยวนี้ พระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้ท่านปล้อง บุตรีพระยาราชวังสัน เปนชาวสวนบ้านคลองบางหลวงริมวัดหงษาราม กรุงเทพฯ เปนคุณหญิงเมื่ออยู่กรุงเทพฯ มีบุตรีคนหนึ่งชื่อคุณผ่อง ได้วิวาหมงคลกับท่านทับอยู่กรุงเทพฯ

ครั้น พ.ศ. ๒๓๓๖ (จ.ศ. ๑๑๕๕) ปีฉลู เบ็ญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรเสร็จไปตีเมืองมะริด มาตั้งพักต่อเรืออยู่ริมทะเลหน้านอกแขวงเมืองชุมพร โปรดให้เกณฑ์กองทัพเมืองพัทลุงไปสมทบกับทัพหลวง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนแม่กองคุมทัพพัทลุงเปนทัพเรือไปตีเมืองมะริด ตะนาวศรี กับด้วยกองทัพกรุง ตีเมืองมะริดจวนจะได้แล้ว โปรดให้หากองทัพกลับเสีย

ครั้นปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ (จ.ศ. ๑๑๗๑) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกแล้ว ในปีนั้น พม่ายกมาตีเมืองถลางแตก โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองพัทลุงไปสมทบกับทัพหลวงที่เมืองตรัง ยกไปตีเอาเมืองถลางคืนได้ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๕๔ (จ.ศ. ๑๑๗๓) ปีมะแม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายกล่อมมหาดเล็กน้องพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนพระทิพกำแหงสงครามปลัด ตั้งนายจุ้ยบุตรเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จัน) เปนหลวงเทพภักดียกรบัตร แลในปีมะแม ตรีศกนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าพระยานคร (พัด) ขึ้นเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีโศกราชวงษ์ จางวาง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระบริรักษภูเบศวร์ (น้อย) ผู้บุตรเปนพระยานครต่อไป (นัยว่าเปนลูกของพระเจ้าตาก)

ครั้นถึงปีระกา เบ็ญจศก พ.ศ. ๒๓๕๖ (จ.ศ. ๑๑๗๕) เจ้าพระยาไทรบุรีกับรายามุดาพี่น้องวิวาทกัน มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ออกมาให้พระยาพัทลุง (ทองขาว) ออกไปห้ามปรามระงับเหตุวิวาท ครั้นพระยาพัทลุง (ทองขาว) กลับมา เจ้าพระยาไทรกับรายามุดาก็วิวาทกันขึ้นอิก พระยาพัทลุงจึงทำความเห็นกราบบังคมทูลให้เรียกรายามุดามาไว้เสียกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายรายามุดาไปเปนเจ้าเมืองสตูล ในปีระกานี้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกมาสักเลขเมืองพัทลุง ๒ ปีจึงเสร็จกลับกรุงเทพฯ แลพระยาพัทลุง (ทองขาว) มีศรัทธาได้สร้างวัดวังมีอุโบสถแลพระระเบียงรอบไว้กลางเมืองวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฎว่าสร้างไว้ในปีใด ได้ทำการสร้างวัดเสร็จ มีการฉลองณวัน ๑๕ ฯ  พ.ศ. ๒๓๕๙ (จ.ศ. ๑๑๗๘) ปีชวด อัฐศก พระยาพัทลุง (ทองขาว) ว่าราชการอยู่ ๒๖ ปี ถึงอนิจกรรมในปีฉลูนพศก พ.ศ. ๑๓๖๐ (จ.ศ. ๑๑๗๙) ในรัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ อายุ ๕๙ ปี (อนึ่ง พระยาพัทลุง (ทองขาว) นี้เปนตาของคุณจอมมารดาทรัพย์ในสมเด็จพระบรมวงษ์เธอชั้น ๓ กรมสมเด็จมาตยาพิทักษ์)

แล้วโปรดเกล้าตั้งนายพลพ่าย (เผือก) นายเวรมหาดเล็กน้องพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) เปนพระยาพัทลุง ให้หลวงยกระบัตร (จุ้ย) เปนพระทิพกำแหงสงครามปลัด ตั้งเมืองตำบลบ้านลำปำตามรูปเดิมครั้น พ.ศ. ๒๓๖๓ (จ.ศ. ๑๑๘๒) ปีมาโรง โทศก พม่ายกมาตั้งทัพอยู่ที่เมืองทวาย จะยกมาตีหัวเมืองชายทะเลตวันตก, แลเมืองไทรบุรีเล่าก็เปนที่กระด้างกระเดื่องอยู่ไม่เปนที่ไว้ใจ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกมาเกณฑ์ทัพเมืองพัทลุง ไปตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองสตูลกับด้วยทัพเมืองนครฯ ทัพเมืองสงขลา คุมเชิงเมืองไทรไว้ พระยาพัทลุง (เผือก) ให้พระปลัด (จุ้ย) คุมทัพเมืองพัทลุงไปตั้งอยู่ที่เมืองสตูลปีเศษ แต่หามีข้าศึกมาไม่ ก็เลิกทัพกลับมาทั้งทัพเมืองนครแลทัพเมืองสงขลา

ครั้น พ.ศ. ๒๓๖๔ (จ.ศ. ๑๑๘๓) ปีมะเส็ง ตรีศก เจ้าพระยาไทรบุรีตั้งแขงเมืองไม่ส่งต้นไม้ทองเงิน จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตรามาเกณฑ์กองทัพเมืองพัทลุงไปสมทบกับทัพเมืองนครแลทัพหัวเมืองอื่น ๆ ให้พระยานคร (น้อย) เปนแม่ทัพไปตีเมืองไทรบุรี พระยาพัทลุง (เผือก) ให้หลวงฤทธิไชยกับขุนต่างใจเปนนายกองคุมทัพพัทลุงไปกับพระยานคร เจ้าพระยาไทรสู้ไม่ได้ หนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก พระยานครตีเมืองไทรได้ณวันเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ แล้วแต่งให้บุตรชายอยู่รักษาเมือง ๒ คน คือ พระภักดีบริรักษ์ (แสง) เปนเจ้าเมือง นายนุดเปนปลัด กับให้นายกล่อม ๑ นายภู ๑ นายม่วง๑ หลวงประชาบาล ๑ เปนผู้ช่วยอยู่รักษาเมืองไทรบุรี แล้วพระยานครให้กวาดครัวแขกไปไว้เมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้มากนัก ครั้นปีมะเมีย จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๖๕ (จ.ศ. ๑๑๘๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยานคร (น้อย) ขึ้นเปนเจ้าพระยานคร แลตั้งพระภักดี บริรักษ (แสง) เปนพระยาอภัยธิเบศร์ผู้ว่าราชการเมือง ตั้งนายนุดเปนพระเสนานุชิตปลัดเมืองไทรบุรี (ตอนนี้พงษาวดารเมืองไทรบุรีว่า ปีมะเสง เบญจศก (จ.ศ. ๑๑๘๕) ในรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยานครยกไปตีเมืองไทรบุรีได้)

ครั้นปีวอก ฉอศก พ.ศ. ๒๓๖๗ (จ.ศ. ๑๑๘๖) พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว ถึงปีจอ อัฐศก พ.ศ. ๓๓๖๙ (จ.ศ. ๑๑๘๘) พระยาพัทลุง (เผือก) ว่าราชการอยู่ ๙ ปี มีความชราลงมาก อายุ ๗๐ ปีเศษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ พระราชทานที่บ้านสนามควายให้เปนที่อยู่อาศรัย บรรดาบุตรหลานสมัคบ่าวไพร่ก็เข้าไปตั้งเรือนอาไศรยอยู่ที่บ้านสนามควายกับด้วยพระยาพัทลุง (เผือก) ทั้งสิ้น โปรดเกล้าฯ ให้นายครุธบุตรคนใหญ่พระยาพัทลุง (เผือก) เปนหลวงพิทักษ์ราชาเจ้ากรมเกณฑ์บุญ ทำราชการอยู่กรุงเทพฯ ได้สืบบุตรหลานต่อมา พวกบ้านสนามควายจึงยังพูดสำเนียงชาวพัทลุงอยู่จนทุกวันนี้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายใหญ่เจ้าพระยานครฯ เปนพระยาอุทัยธรรมฯ เปนเจ้าเมืองพัทลุง ๆ ได้เกณฑ์ไพร่ตัดไม้ต่อเรือรบ ๓๐ ลำ ปากกว้าง ๓ วาบ้าง ๔ วาบ้าง ตั้งทำการต่อเรือที่ชายทะเลสาปหน้าวัดป่าเลลัยเดี๋ยวนี้ ๑ แห่ง ที่อ่าวจงเก ๑ แห่ง (เดี๋ยวนี้เรียกที่นั้นว่าท่าต่อเรือมาจนทุกวันนี้) แต่หาทันสำเร็จไม่ ทำการต่อเรือประมาณครึ่งหนึ่งก็ติดราชการศึกเมืองไทรเกิดขึ้น การต่อเรือจึงค้างอยู่ ไม้ที่ตัดมาทำเรือก็สาบสูญไป

ครั้น พ.ศ. ๒๓๗๓ (จ.ศ. ๑๑๙๒) ปีขาน โทศก ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ต่วนกูเด็น หลานเจ้าพระยาไทรซึ่งหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก มาตีเมืองไทรบุรีได้ในเดือน ๓ แรมค่ำ ๑ พระยาไทร (แสง) บุตรเจ้าพระยานครหนีมาอาศรัยอยู่กับพระยาพัทลุงผู้พี่ แล้วบอกไปเมืองนครศรีธรรมราชแลกรุงเทพฯ เจ้าพระยานครเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองพัทลุง ไปตีเมืองไทร เจ้าเมืองพัทลุงเปนคนพิการเสียขา แลเปนคนสูบฝิ่นติดด้วย จึงให้พระปลัด (จุ้ย) คุมกองทัพไปแทนตัว รวมกับทับเจ้าพระยานครฯ ยกไปล้อมเมืองไทรไว้ ต่วนกูเด็นสู้ไม่ได้ จึงฆ่าตัวตาย เจ้าพระยานครเข้าเมืองไทรได้ ให้พระยาไทร (แสง) บุตรอยู่รักษาต่อไป (ตอนนี้พงษาวดารเมืองไทรกล่าวปีแลศักราชผิดกันอิก พงษาวดารเมืองไทรว่า เปนปีวอก อัฐศก (จ.ศ. ๑๑๙๘) ตวนกูเด็นตีเมืองไทรได้)

ฝ่ายแขกเมืองปัตตานีทั้ง ๗ หัวเมืองมีความกำเริบมาตีเมืองสงขลา ครั้นเจ้าพระยานครทราบว่ าพวกแขกปัตตานีมาตีเมืองสงขลา ก็ยกทัพออกจากเมืองไทรบุรีมาช่วยเมืองสงขลา พวกแขกก็แตกกลับไป แลครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งเปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ในรัชกาลที่ ๔ (ที่เรียกกันว่าสมเด็จองค์ใหญ่) เปนแม่ทัพยกมาปราบเมืองไทรแลเมืองปัตตานี มาถึงเมืองสงขลาในปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๗๕ (จ.ศ. ๑๑๙๔) แต่หาได้รบไม่ ด้วยแขกแตกไปหมดแล้ว แล้วตั้งพักอยู่ที่เมืองสงขลา จัดราชการเมืองแขกเรียบร้อยแล้ว ให้ก่อพระเจดีย์ไว้ที่บนเขาแดงองค์หนึ่ง แล้วกลับกรุงเทพฯ แลในปีเถาะ ตรีศก ระหว่างศึกเมืองไทรนั้น ราษฎรทำนาไม่ได้ผลถึง ๒ ปี ด้วยน้ำท่วมเข้าเสียมาก เข้าแพง ซื้อขายกัน ๓ หรือ ๔ ทนานต่อเหรียญนอก คือ ๖ สลึงเฟื้อง เอามาหุงปนกับเผือกมันบุกกลอยบ้าง หัวกล้วยบ้าง ที่ไม่มีเข้าปนเลยก็มี พลเมืองอดเข้าล้มตายในครั้งนั้นมากนัก ที่อพยพครอบครัวไปอยู่ต่างเมืองก็มาก

ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๓๘๑ (จ.ศ. ๑๒๐๐) ต้นปีจอ สัมฤทธศก พวกหัวเมืองเข้าไปในงานพระเมรุสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง ฝ่ายตวนกูหมัดสอัด ตวนกูอับดูนสะ หลานเจ้าพระยาไทร (เรียกกันว่านายสุก นายแตน) กับหวันมะหลี แขกสลัดอยู่ที่เกาะยาวหน้าเมืองภูเก็จ ยกจู่มาตีเมืองไทรได้อิก พระยาไทร (แสง) หนีมาอาศรัยพระยาพัทลุงผู้พี่เหมือนครั้งก่อน ครั้นพวกแขกตีเมืองไทรได้แล้ว ให้หวันมะหลีมาตีเมืองตรังได้ ฝ่ายตวนกูหมัดสอัดก็แต่งกองทัพยกมาตีเมืองสงขลา ได้สู้รบกันเปนศึกใหญ่ ทัพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) อ่อนกำลัง ถอยเข้าตั้งรักษาอยู่ในเมือง แขกยกรุกเข้าไปตั้งอยู่ที่เขาลูกช้างแลปลักแรด ฝ่ายเมืองพัทลุงก็เกณฑ์กองทัพให้พระยาไทรน้องชายไปตีเมืองไทรกับกองทัพเมืองนครฯ กับให้กรมการไม่ปรากฎนามคุมไพร่ไปช่วยเมืองสงขลากองหนึ่ง แล้วให้พระปลัด (จุ้ย) ไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองสตูนกอง ๑ อ้ายหวันมะหลียกมาตีเมืองสตูน ได้รบกันถึงตลุมบอน ไทยน้อยตัวทานกำลังแขกไม่ได้ก็แตก แขกตามตียับเยินมาก พระปลัด (จุ้ย) หนีไม่ทัน ต้องปลอมตัวลงเกลือกกลั้วกับซากศพเหล่านั้น เอาโลหิตทาตัวนอนทำตายอยู่กับซากศพ ครั้นแขกไล่ไทยพ้นไปหมดแล้ว จึงได้เซซังมาพบกับนายทองโอ่คนใช้ ได้เปนเพื่อนมาด้วยกันจนถึงเมืองพัทลุง จึงได้รวบรวมพลได้แล้วยกกลับไปตั้งค่ายรับทัพแขกอยู่ที่ด่านทางร่วม ซึ่งเปนทางร่วมไปสงขลามาพัทลุงไปสตูนได้ทั้ง ๓ เมือง ครั้งนี้ไทยทำค่ายด้วยต้นหยวกกล้วยป่า แขกมาตั้งค่ายประชิดกันอยู่ที่ดงเชือกช้างแขวงเมืองสตูนได้สู้รบกันกับแขกเปนสามารถ แขกแต่งกองโจรเข้ามาสอดแนมถึงบ้านตะโหมดแลท่าชมวงบ้านป่าบอน ไทยได้ออกต้านตีแขกออกไปทุกแห่งพอถอนไพร่กองที่ไปช่วยเมืองสงขลามาถึงค่ายหยวกด่านทางร่วมพร้อมกัน ก็ยกไปตีค่ายแขกดงเชือกช้างแตก พระปลัดยกตามไปตีเมืองสตูนคืนได้ พวกแขกขบถก็แตกหนีลงเรือกลับไป ฝ่ายพระยาไทรตั้งรับขบเคี่ยวกันอยู่กับแขกที่เมืองไทร ก็ตีเมืองไทรคืนได้ พวกแขกซึ่งมาตีเมืองสงขลาครั้นรู้ว่าเมืองไทรแลเมืองสตูนเสียแล้ว จะตั้งรับขบเคี่ยวกันไปกับเมืองสงขลาก็เกรงว่า กองทัพไทยที่เมืองไทรแลเมืองสตูนจะยกมาโอบหลังเข้าตี จะเสียยับเยินมาก จะหนีก็ไม่พ้น จะสู้ก็ไม่ได้ จึงเลิกทัพหนีกลับไปทางแดนอังกฤษ ทัพหวันมะหลีซึ่งมาตั้งหมั่นอยู่เมืองตรังก็เลิกทัพกลับไปเอง

ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระวิชิตณรงค์กับพระราชวรินทรคุมทัพเรือล่วงหน้ามาก่อน ทัพหน้ามาถึงเมืองสงขลาก็พอแขกเลิกทัพหนีกลับไป หาทันได้รบกันไม่ ทัพหลวงพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัศน์) ซึ่งเปนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ ในรัชกาลที่ ๔ (ซึ่งเรียกกันว่าสมเด็จองค์น้อย) เปนแม่ทัพใหญ่ กับเจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี คุมไพร่ ๕๐๐๐ เปนทัพเรือ ยกตามมาทัพหน้าทัพหลวง ก็ขึ้นตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา จัดการทั้งเมืองไทรแลเมืองกลันตัน ซึ่งเวลานั้นพระยากลันตันกับพระยาจางวางเกิดวิวาทรบกันระหว่างญาติพี่น้อง พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจึงแต่งให้ข้าหลวงยกทัพบกทัพเรือออกไปว่ากล่าวห้ามปราม พระยากลันตันกับพระยาจางวางก็เลิกรบกัน ฝ่ายทางเมืองไทรเห็นว่า พระยาไทรบุรี พระเสนานุชิต เปนไทย จะรักษาเมืองไทรบุรีต่อไป บุตรหลานเจ้าพระยาไทรจะมารบกวนอิก จึงนำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองไทรบุรีออกเปน ๓ เมือง คือ เมืองไทรบุรี ๑ เมืองกะบังปาสู ๑ เมืองปลิศ ๑ รวมเปน ๔ ทั้งเมืองสตูน แบ่งท้องที่ออกเปนมุเกม มีนายมุเกมเปนผู้บังคับการงาน (ทำนองนายอำเภอทุกวันนี้) โปรดให้ต่วนกูอาหนุ่มซึ่งเปนที่รักใคร่นับถือของพลเมืองมากนั้นว่าราชการเมืองไทร ต่วนกูอาสันว่าราชการเมืองกะบังปาสู ต่วนกูเสดอุเซ็นว่าราชการเมืองปลิศ ต่วนกูหมัดอาเก็บว่าราชการเมืองสตูน ให้คงขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไปทั้ง ๔ เมืองโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทร (แสง) กับพระเสนานุชิตปลัดนั้นกลับกรุงเทพฯ ภายหลังโปรดเกล้าตั้งให้พระยาไทร (แสง) เปนพระยาบริรักษภูธรผู้ว่าราชการเมืองพังงา ตั้งพระเสนานุชิต (นุด) เปนพระยาเสนานุชิตผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า พระยาพิพัฒน์จัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลา ๒ ปี ได้ก่อพระเจดีย์ไว้ที่เขาแดงอิกองค์หนึ่งเคียงกับเจดีย์ของเจ้าพระยาพระคลังผู้พี่ แล้วจึงกลับกรุงเทพฯ ครั้งนั้นเมื่อเสร็จศึกแขกแล้ว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงอสัญญกรรม โปรดเกล้าฯ ให้พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) บุตรที่ ๒ เจ้าพระยานครน้อยเปนพระยานครแทนบิดา กับโปรดให้เรียกพระยาอุทัยธรรมผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงเข้าไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ ในปีกุน เอกศก พ.ศ. ๒๓๘๒ (จ.ศ. ๑๒๐๑) พระยาอุทัยธรรมว่าราชการอยู่ ๑๓ ปี แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระปลัด (จุ้ย) เปนพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดีพิริพาหะผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง แลโปรดเกล้าฯ ให้ยกที่พระโคะ คือ จะทิ้งพระ เมืองเก่าของพัทลุง ซึ่งเปนอำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลาเดี๋ยวนี้ กับตำบลพังลา ไปเปนแขวงเมืองสงขลาแต่นั้นมา พระยาพัทลุง (จุ้ย) คนนี้เปนบุตรเจ้าพระยาสุรินทรราชา (จันทร์) ผู้เปนต้นสกูลจันทโรจวงษ์ซึ่งในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ออกมาเปนข้าหลวงสำเร็จราชการอยู่ณเมืองถลางกำกับราชการหัวเมืองทะเลหน้านอก ๘ หัวเมือง คือ มณฑลภูเก็จเดี๋ยวนี้ เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ผู้นี้เปนบุตรที่ ๓ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ผู้มีชื่อเสียงในแผ่นดินพระบรมราชา “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ” ครั้งกรุงเก่า แลเปนบุตรเรียงพี่เรียงน้องกับท่านเจ้าขรัวเงินซึ่งภายหลังมาปรากฎนามว่าท่านขรัวก๋งทางฝ่ายมารดา แลเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) มีน้องชายอิกหลายคนได้สืบบุตรหลานแตกออกเปนสกูล (ภูมิรัตน์) สายหนึ่ง สกูล (บุญศิริ) สายหนึ่ง สกูล (ศิริวัฒนกุล) สายหนึ่งซึ่งปรากฎอยู่ทุกวันนี้ กับเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) มีบุตรอิก ๒ คน ชื่อนายอิน นายพิมพ์ นายอินเปนน้องร่วมมารดากับพระยาพัทลุง (จุ้ย) ทั้ง ๓ คนนี้ได้ถวายตัวเปนข้าหลวงเดิมพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ ภายหลังเมื่อออกทรงพระผนวชแล้ว นายอินก็ตามไปรับราชการอยู่ในวัด ครั้นนายอินถึงแก่กรรม ก็ทรงเปนเจ้าภาพเผาศพตามธรรมเนียม พระยาพัทลุง (จุ้ย) ผู้พี่ไม่มีบุตร จึงได้รับเอานายน้อยบุตรนายอินผู้น้องมาเลี้ยงเปนบุตรบุญธรรม แลขอรับพระราชทานให้นายพิมพ์น้องที่ ๓ เปนหลวงสิทธิศักดิ์ภักดีผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง อนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) เปนมหาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อเมืองนครฯ ตั้งตัวเปนเจ้านั้น มีบุตรชายด้วยภรรยาน้อยคนหนึ่งชื่อเยาว์ตกอยู่เมืองนครฯ ภายหลังได้เปนพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่าปลัดเยาว์ ครั้นเจ้าพระยาสุรินทราชาได้ไปเปนข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมืองทะเลน่านอก ๘ หัวเมืองครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น มีบุตรชายตกอยู่ที่เมืองถลางคน ๑ ชื่อนายฤกษ์

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายบุญคงมหาดเล็กบุตรหลวงฤทธิเสนี (เมือง) แลเปนหลานปู่แต่พระยาจะนะ (เณร หรือ อิน) เปนพระทิพกำแพงสงครามปลัดซึ่งเปนต้นสกูลศิริธรทุกวันนี้ ครั้นปีระกา เอกศก พ.ศ. ๒๓๙๒ (จ.ศ. ๑๒๑๑) โปรดเกล้าฯ ให้พระยารามกำแหงออกมาสักเลขเมืองพัทลุง สักท้องแขน ๑ ปีเสร็จ พระยาพัทลุง (จุ้ย) ว่าราชการอยู่ ๑๒ ปี ครั้นปีจอโทศก พ.ศ. ๒๓๙๓ (จ.ศ. ๑๒๑๒) ป่วยเปนโบราณโรคถึงอนิจกรรมในต้นปีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบออกมารับศพ ในปีนั้นหลวงปเหลียนก็ถึงแก่กรรมลงด้วย อนึ่ง ในปีจอโทศก พ.ศ. ๒๓๙๓ (จ.ศ. ๑๒๑๒) นั้น พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ก็เสด็จสวรรคต ครั้นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกในปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๒๓๙๔ (จ.ศ. ๑๒๑๓) แล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงยกรบัตร (ทับ) บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง พระราชทานพานหมาก คนโท กโถนทองคำ แลกระบี่บั้งทอง เสื้อหมวกทรงประพาศ เปนเกียรติยศ กับพระราชทานคุณแดงบุตรพระยาสงขลาซึ่งเข้าไปรับราชการฝ่ายในอยู่กรุงเทพฯ นั้นมาเปนคุณหญิง ด้วยท่านตีดภรรยาเดิมถึงอนิจกรรมก่อนนานมาแล้ว แต่คุณหญิงแดงหามีบุตรด้วยกันไม่

ตั้งหลวงสิทธิศักดิ์ (พิมพ์) ผู้ช่วยข้าหลวงเดิมซึ่งเปนน้องพระยาพัทลุง (จุ้ย) เปนพระยาวรนารถสัมพันธพงษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียน ตั้งนายบัวมหาดเล็กบุตรพระยาพัทลุง (เผือก) ซึ่งเข้าไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ กับพระยาพัทลุง (เผือก) แต่ก่อนนั้นเปนพระพลสงครามจางวางด่าน ตั้งหมื่นสนิทภิรมย์ (นิ่ม) บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนหลวงเทพภักดียกระบัตร ตั้งนายศุขบุตรพระยาพัทลุงเปนหลวงรองราชมนตรีผู้ช่วย ออกมารับราชการเมืองพัทลุง ครั้นปีชวด จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๙๕ (จ.ศ. ๒๓๑๔) พระยาวรนารถสัมพันธพงษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเข้าไปกรุงเทพฯ ป่วยเปนลมบาดจิตรล้มลงก็ถึงแก่กรรมโดยรีบด่วนที่บ้านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ซึ่งเวลานั้นยังเปนพระยามหาอำมาตย์หรือเจ้าพระยาธรรมา แลที่เปนโรงเรียนเสาวภาเดี๋ยวนี้ ครั้นนำความกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบอย่างพระยาพานทอง แลโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เสด็จพระราชทานน้ำอาบศพแทนพระองค์ด้วย ครั้นถึงเวลาคราวจะพระราชทานเพลิง โปรดเกล้าฯ ให้เปนศพหลวง ตั้งการฌาปนกิจณวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) พระราชทานโขนหลวงให้เล่นด้วย แลได้เสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งที่สพานน่าวัดทรงจุดชนวนฝักแคพระราชทานเพลิง

ครั้นปีฉลู ยังเปนจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๙๕–๖ (จ.ศ. ๑๒๑๔–๕) โปรดเกล้าฯ ตั้งนายน้อยบุตรนายอินข้าหลวงเดิมซึ่งพระยาพัทลุง (จุ้ย) รับมาเลี้ยงเปนบุตรบุญทำนั้นเปนพระวรนารถสัมพันธพงษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนแทนอา ตั้งนายแต้มบุตรพระยาวรนารถ (พิมพ์) ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเปนหลวงสุนันทากรปลัดเมืองปเหลียน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ (จ.ศ. ๑๒๒๑) ปีมแม เอกศก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ เสด็จประพาศเมืองสงขลาแลปัตตานี ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินออกมาด้วย พระยาพัทลุง (ทับ) พระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ได้ไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทที่ณเมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเฟื้องทองคำตราช้างแก่พระยาพัทลุง (ทับ) ๑๐๐ เหรียญ พระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ๑๐๐ เหรียญ ครั้งนั้นหลวงสุนันทากร (แต้ม) ป่วย ออกไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทไม่ได้ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเฟื้องทองคำฝากมากับพระยาพัทลุง (ทับ) ๓๐ เหรียญ ครั้งนั้นพระยาพัทลุงทับให้ยกระบัตร (นิ่ม) ไปรื้อเอาปืนบาเหรียมมาแต่เขาไทรบุรีเมืองเก่าทั้ง ๒ กระบอกมาไว้ที่กลางเมืองพัทลุง กับให้รื้ออิฐกำแพงเมืองที่เขาไทรบุรีมาปฏิสังขรณวัดวัง ซึ่งเปนวัดของพระยาพัทลุง (ทองขาว) บิดาขึ้นเปนวัดถือน้ำไว้กลางเมืองพัทลุง ทั้งกุฎิ วิหาร อุโบสถ แลเจดีย์สถาน แลวาดเขียน พร้อมเสร็จบริบูรณ์ ได้มีงานฉลองณวัน ๑๔ ฯ  ค่ำ ปีวอก โทศก พ.ศ. ๒๔๐๓ (จ.ศ. ๑๒๒๖) ต่อมาปลัด (บุญคง) แลยกระบัตรนิ่มเมืองพัทลุงถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงราชมนตรี (สุก) เปนพระทิพกำแหงสงครามปลัด ตั้งนายคล้ายบุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนหลวงเทพภักดียกระบัตร ครั้งนี้จะเปนปีใดไม่ปรากฎ โปรดเกล้าฯ ให้ยกที่กำแพงเพ็ชร์ไปเปนแขวงเมืองสงขลาแต่นั้นมา พระยาพัทลุง (ทับ) ว่าราชการอยู่ ๑๖ ปี ครั้นปีเถาะ เดือน ๕ ยังเปนอัฐศก พ.ศ. ๒๔๐๙–๑๐ (จ.ศ. ๑๒๒๘–๙) เวลาบ่ายโมงเศษ ป่วยเปนลมถึงแก่อนิจกรรมโดยเร็วพลัน ในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้นทรงรับสั่งกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์เมื่อยังเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ว่า เมืองพัทลุงขอให้กับพระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ฯพณฯ จึงมีท้องตราออกมาให้พระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) มาว่ารั้งอยู่ ๒ ปี หาทันได้รับพระราชทานสัญญาบัตรไม่ ก็พอทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตลงในปีมโรง สำฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๑๑ (จ.ศ. ๑๒๓๐)

ครั้นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกในปีมะโรงนั้นแล้ว ปีมะเสง เอกศก พ.ศ. ๒๔๑๒ (จ.ศ. ๑๒๓๑) โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระวรนารถสัมพันธวงษ์ (น้อย) ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเปนพระยาอภัยบริรักษจักราวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง พระราชทานพานหมาก คนโท กระโถนทองคำ กระบี่บั้งทอง เสื้อหมวกทรงประพาศ ลูกประคำ แลกระดิ่งทองคำ เจียดเงินคาวหวาน ๑ คู่ แคร่สัปโทน แลตราทุติยจุลจอมเกล้า เปนเกียรติยศ ตั้งหลวงพิทักษ์ (พุ่ม) บุตรพระพลสงคราม (บัว) เปนพระพลสงคราม ตั้งนายขาวบุตรพระยาพัทธลุง (ทับ) เปนพระเกษตรานุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียน ตั้งนายรุ่งบุตรพระยาปเหลียน (พิมพ์) เปนหลวงสิทธิศักดิ์ภักดีผู้ช่วย แลพระราชทานตราตระกูลตะติยะจุลจอมเกล้าให้พระปลัด (สุก) เปนพิเศษ ด้วยเวลานั้นพี่ชายใหญ่แลพี่ชายเล็กถึงแก่กรรมล่วงไปแล้ว แลเปนเวลาที่ได้ทรงสร้างตราตระกูลขึ้นด้วย ต่อมาปีใดไม่ปรากฎ พระยาพัทลุง (น้อย) เข้าไปกรุงเทพฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงเปนข้าหลวงเชิญท้องตราพระคชสีห์กระแสรับสั่งแลเครื่องราชอิศริยยศออกไปพระราชทานเจ้าพระยาไทรบุรี (ต่วนกูอาหมัด) ณเมืองไทรบุรี อยู่มาครั้นพระปลัด (สุก) ต.จ. หลวงยกรบัตรคล้าย เมืองพัทลุง ถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงภักดีโยธา (รุ่ง) บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนพระทิพกำแหงสงครามปลัด ตั้งนายนันต์บุตรหลวงสุนันทากร (แต้ม) เปนหลวงเทพภักดียกรบัตร ครั้นปีมะโรง โทศก พ.ศ. ๒๔๒๓ (จ.ศ. ๑๒๔๒) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีพระประสาสน์สั่งให้พระวิชิตรณรงค์ออกมาชำระเลขเมืองพัทลุง กับให้พระนราบุตรพระยาอุทัยธรรมฯ ออกมาคัดเลือกเลขขึ้นเปนทหารสำหรับเมือง ข้าหลวงมาตั้งจัดการอยู่ ๒ ปี

ครั้นปีมะเสง ตรีศก พ.ศ. ๒๔๒๔ (จ.ศ. ๑๒๔๓) พระยาพัทลุงน้อยได้ทำความเห็นมีใบบอกเข้าไปกรุงเทพฯ ขอเปลี่ยนการเกณฑ์สร่วยต่าง ๆ เปนเก็บเฉลี่ยประมาณคนมีครัวคน ๑ ราว ๒ บาท แม่ม่ายมีลูกชายฉกรรจ์ ๕๐ สตางค์ ต่อมาพระปลัด (รุ่ง) ถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้าตั้งหลวงมนตรีบริรักษ์ (จัด) บุตรพระยาวรนารถสัมพันพงษ์ (พิมพ์) ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเปนพระทิพกำแพงสงครามปลัด

ครั้นปีจอ นพศก พ.ศ. ๒๔๓๐ (จ.ศ. ๑๒๔๙) พระยาพัทลุง (น้อย) เห็นว่า คลองจงเกตอนใต้ตื้นเขินขึ้นเปนตอน ๆ น้ำเดินไม่สดวก บ่าเข้าบ้านเข้านา กลายเปนที่ลุ่มน้ำท่วมอยู่ตลอดปี ไม่แห้งเลย ที่นาก็ทำไม่ได้ รกร้างมาช้านานแล้ว จึงจัดให้หลวงเดชสงคราม (หนูเอียด เดชณพันธ์) นายตำบล (หรือหัวเมือง) ที่วัดเปนนายงานจัดการระดมคนที่คชที่วัดขุดคลองจงเกตอนเหนือแต่วัดตะโหนด ขุดลัดมาลงคลองบางแก้วซึ่งเปนคลองตายอยู่นั้นยาวประมาณ ๒๐๐ เส้น ปากบนกว้าง ๖ ศอก ลึก ๔ ศอก คลองจงเกจึงเรียกว่าคลองบางแก้วแต่นั้นมา ทุ่งนาแลบ้านแถบคลองจงเกก็ดอนขึ้น ได้ทำนาเจริญมาเปนลำดับจนทุกวันนี้ พระยาพัทลุง (น้อย) ว่าราชการอยู่ ๑๙ ปี ถึงปีชวด สำฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๓๑ (จ.ศ. ๑๒๕๐) มีความชราทุพลภาพลง จักษุมืดมัวแลไม่เห็นทั้ง ๒ ข้าง จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้เปนพระยาวรวุฒิไวยวัทลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรราชภักดีพิริยพาหะจางวางกำกับราชการ โปรดให้หลวงจักรานุชิต (เนตร) บุตรชายใหญ่เปนพระยาอภัยบริรักษ์จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง พระราชทานถาดหมากคนโททองคำเปนเกียรติยศ ครั้นปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. ๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาศเมืองพัทลุง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหม่อมราชวงษ์ (หรั่ง) พี่ชายเจ้าพระยาอภัยราชา บุตรหม่อมเจ้าจินดาในกรมหมื่นไกรสรวิชิต ซึ่งออกมาอาศรัยอยู่กับคุณหญิงนุ่ม วรวุฒิไวย จางวาง (น้อย) เปนหลวงบุรีบริบาลผู้ช่วยราชการ ตั้งนายพิณบุตรพระยาวรวุฒิไวยจางวาง (น้อย) เปนหลวงจักรานุชิตผู้ช่วยราชการ (ภายหลังมาเมื่อณวันที่ ๓๑ พฤศภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนหลวงศรีวรวัตรกรมการพิเศษ) อยู่มาถึงปีเถาะ ตรีศก พ.ศ. ๒๔๓๔ (ร.ศ. ๑๑๐) โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองปเหลียนไปขึ้นเมืองตรัง ด้วยเปนหนทางใกล้สดวกกว่ากัน กับโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงเขตรขันธ์ (โต) ปลัดเมืองปเหลียน บุตรนายร้าย แลหลานพระปลัด (บุญคง) เปนพระพลสงคราม (ภายหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ร.ศ. ๑๒๖) โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ เลื่อนขึ้นเปนพระยาศิรินทรเทพสัมพันธ์ (ตำแหน่งราชการกระทรวงวัง) ครั้นพระปลัด (จัด) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนหลวงบุรีบริบาล (ม.ว. หรั่ง) เปนพระทิพกำแหงสงครามปลัด พระยาพัทลุง (เนตร) ได้ว่าราชการมา ๘ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ (ร.ศ. ๑๑๔) ปลายปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวิจิตร วรสาสน์ เปนข้าหลวงพิเศษออกมาจัดราชการตามแบบปกครองสมัยใหม่ ๓ หัวเมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ข้าหลวงจัดให้พระพิศาลสงครามผู้ว่าราชการเมืองสิงห์มาเปนผู้ช่วยจัดราชการอิกนาย ๑ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕) โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานสัญญาบัตรให้พระวิจิตรวรสาสน์เปนพระยาสุขุมนัยวินิจตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช คือ รวมเมืองนคร เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ๓ เมืองเข้าเปนมณฑลนครศรีธรรมราช ตั้งที่ว่าราชการมณฑลณเมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลจัดให้เจ้าเมืองกรมการได้รับพระราชทานเงินเดือนพอสมควรกับราชการ

ส่วนพระยาวรวุฒิไวยจางวาง (น้อย) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่นอกอำนาจข้าหลวงเทศาภิบาล แลพระราชทานยศเปนชั้น ๑ ตรี (เทียบยศมหาอำมาตย์ตรีเดี๋ยวนี้) กับพระราชทานเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพเดือนละ ๒ ชั่งจนตลอดอายุ

พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) สมเด็จพระบรมราชินีนารถ เมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงรามบริรักษ์ (สว่าง) บุตรหลวงยกรบัตร (นิ่ม) เปนหลวงบุรีบริบาล ข้าหลวงเทศาภิบาลจัดให้รับราชการตำแหน่งผู้พิพากษาศาลเมืองนครศรีธรรมราช (ภายหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เลื่อนขึ้นเปนพระรัตตัญญูวินิจฉัยผู้พิพากษาศาลเมืองชุมพร) แลโปรดเกล้าฯ ให้หลวงรองราชมนตรี (นบ) บุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนหลวงวิบุลยบูรขัณฑ์นายอำเภอปากประ (อำเภอพนางตุงเดี๋ยวนี้) ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗) พระพิศาลสงครามผู้ช่วยจัดราชการถึงแก่กรรม เทศาภิบาลจัดให้พระอาณาจักรบริบาลมาเปนข้าหลวงผู้ช่วย แล้วย้ายไปรับราชการอยู่ที่มณฑล

พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ซึ่งเปนพระยาเพ็ชร์รัตนสงครามสมุหเทศาภิบาลมณฑลมหาราษฎร์เดี๋ยวนี้ ออกมาเปนข้าหลวงประจำเมืองกำกับราชการเหนือพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) อิกนายหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุนทรนุรักษ์ไปเปนข้าหลวงบริเวณนครธาตุพนม โปรดให้พระยาอภัยบริรักษ์ว่าราชการตามระเบียบใหม่โดยลำพัง หามีข้าหลวงผู้ช่วยไม่ ครั้นณวัน ๑๕ ค่ำเวลากลางคืน ๑๐ ทุ่มเศษ พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) มีอธิกวาร พระยาวรวุฒิไวยฯ จางวาง ป่วยโรคชราถึงอนิจกรรม อายุได้ ๘๓ ปี อนึ่ง พระยาวรวุฒิไวยจางวาง (น้อย) เมื่ออายุ ๒๘ ปี ได้วิวาหมงคลกับท่านหนูขาวบุตรตรีพระยาพัทลุง (ทับ) ซึ่งเวลานั้นยังเปนหลวงยกรบัตร มาเปนภรรยา มีบุตรด้วยกันหลายคน ถึงแก่กรรมหมด เหลือแต่พระยาพัทลุง (เนตร) บุตรคนเล็ก ครั้นท่านหนูขาวถึงแก่กรรมแล้ว ได้วิวาหมงคลกับท่านนุ่มบุตรีพระพลสงคราม (บัว ณพัทลุง) เปนหลานพระยาพัทลุง (เผือก) แลหลานตาแต่พระยาพัทลุง (ทองขาว) ที่เปนหม้ายอยู่นั้น มาเปนคุณหญิง มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ หลวงศรีวรวัตร (พิณ) ๑ แข คุณหญิงเพ็ชราภิบาล ๑ พระยาวรวุฒิไวย จางวาง (น้อย) เปนผู้มีศรัทธาในพระพุทธสาสนามาก มีศีลทานภาวนามิได้ขาด ประพฤติตนเปนธรรมเสมอต้นเสมอปลายจนตลอดอายุ เมื่อยังเปนผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่นั้น ได้ปฏิสังขรณ์วัดอนุราธารามขึ้นวัด ๑ ที่ปากน้ำลำปำฝั่งเหนือ สร้างอุโบสถแลกุฎีศาลาโรงธรรมพร้อมแต่การสร้างอุโบสถนั้นยังไม่ได้ยกเครื่องบนการค้างมา ครั้นพระยาวรวุฒิไวยฯ จางวาง (น้อย) ถึงอนิจกรรมแล้ว วัดนั้นก็ร้าง จึงได้สร้างโรงเรียนขึ้นไว้เปนอนุสาวรีซึ่งเปนที่ฌาปนกิจศพพระยาวรวุฒิไวยฯ จางวาง (น้อย) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ (จ.ศ. ๑๒๗) นั้นด้วยเงินทุนสำหรับศพเปนเงิน ๗๙๐๐ บาทเศษ ได้ยกให้เปนโรงเรียนรัฐบาล (คือโรงเรียนอภยานุกูลเดี๋ยวนี้) พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) ว่าราชการอยู่ปี ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เปนตำแหน่งจางวาง พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๔๐๐ บาท

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) นี้ โปรดเกล้าฯ ให้พระสุราฤทธิภักดี (ยุตี๋ ณรนอง) มาเปนผู้ว่าราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) โปรดเกล้าฯ ให้พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น) มาเปนผู้ว่าราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) โปรดเกล้าฯ ให้พระแก้วโกรพ (หมี) เปนผู้ว่าราชการ

พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) โปรดเกล้าฯ ให้พระกาญจนดิษฐ์บดี (อวบ) มาเปนผู้ว่าราชการ

พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอุตรกิจพิจารณ์ (สุด) มาเปนผู้ว่าราชการในศกนี้ เจ้าอธิการพุ่ม วัดเขียนบางแก้ว ซึ่งเปนเจ้าคณะหมวด เปนหัวหน้าปฏสังขรณ์พระอุโบสถวัดเขียนบางแก้ว คือ รื้อของเก่าลงแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามรูปเดิม

ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๓ (ร.ศ. ๑๒๙) พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ ปิยมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกโดยสังเขปได้ปี ๑ ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกครั้งที่ ๒ เปนการใหญ่ มีกระษัตริย์เจ้านายต่างประเทศเข้ามาเฉลิมพระเกียรติยศในงานครั้งนี้มาก

พ.ศ. ๒๔๕๕ (ร.ศ. ๑๓๑) โปรดเกล้าฯ ให้พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง) เนติบัณฑิตย์มาเปนผู้ว่าราชการเมือง

พ.ศ. ๒๔๕๖ (ร.ศ. ๑๓๒) โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประสบประสงค์รั้งเจ้าเมือง

พ.ศ. ๒๔๕๗ (ร.ศ. ๑๓๓) โปรดเกล้าฯ ให้พระพัทลุงคบุรีศรีรหัทเขตร (หงวน) เนติบัณฑิตย์เปนผู้ว่าราชการ

พ.ศ. ๒๔๕๘ (ร.ศ. ๑๓๔) โปรดเกล้าฯ ให้พระพัทลุงคบุรีศรีรหัทเขตร (ทองศุข ผลพันธทิน) เปนผู้ว่าราชการ.


ในสมัยก่อนคราวรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ เจ้าเมืองมียศชั้นพระยาพานทอง มีอำนาจเปนแม่ทัพประจำตัวเสมอ สั่งประหารชีวิตนักโทษที่โทษถึงตายได้ แลได้กระทำมาแล้วหลายเจ้าเมือง เจ้าเมืองมีกรมการผู้ใหญ่ตั้งแต่งออกมาแต่กรุงเทพฯ (หรือข้าราชการชั้นสัญญาบัตร) เปนผู้ช่วย คือ

พระปลัด ๑ หลวงยกรบัตร ๑ หลวงผู้ช่วย ๒ คน บางคราวก็มี ๓ คนบ้าง กับมีพระพลจางวางด่าน ๑

หลวงผู้ช่วยมีราชทินนามต่างกันดังนี้ ตำแหน่งเก่า หลวงทุกขราษฎร์ ๑ หลวงสัจจาภักดี ๑ หลวงรองราชมนตรี ๑ หลวงสิทธิศักดิภักดี ๑ หลวงราญอริราษฎร์ ๑ หลวงรามบริรักษ์ ๑ หลวงมนตรีบริรักษ์ ๑

ตำแหน่งใหม่ครั้งพระยาจางวาง (น้อย) หลวงจักรานุชิต ๑ หลวงบุรีบริบาล ๑

พระปลัดหลวงยกระบัตร หลวงผู้ช่วย มีเลขสำหรับตำแหน่ง รองปลัดรองยกระบัตรแลขุนหมื่นรองผู้ช่วยเปนผู้ควบคุมเลขนั้น พระพลจางวางด่าน ขุนรองพล ได้คุมเลขกองด่าน จัดการลาดตระเวรรักษาด่านทางทั้งทางน้ำทางบก

ตำแหน่งมหาดไทยเปนประทวนเสนาบดี คือ หลวงจ่าบุรินทรอินทเสนามหาดไทย เปนผู้รับคำสั่งเจ้าเมืองทำหนังสือราชการสำคัญต่าง ๆ มีใบบอกแลออกบัตรหมายเปนต้น แลเก็บรักษาต้นเรื่องราวหลักราชการด้วย

มีขุนจ่า หรือขุนรองจ่า (หมายตั้งเจ้าเมือง) เปนผู้ช่วยอิกนายหนึ่ง

ตำแหน่งกรมการผู้น้อย หรือกรมการรอง เจ้าเมืองเปนผู้คัดเลือกออกหมายตั้งได้ คือ

ตำแหน่งจัตุสดมภ์ ๔ ตำแหน่ง มีเวียง วัง คลัง นา

(เวียง) คือ หลวงเพ็ชร์มนตรีศรีราชวังเมือง ได้ว่าความนครบาล (ความอุกฉกรรจ์หรืออาญาหลวง) แลได้บังคับนายตำบลที่เมืองด้วยทุกตำบล

(วัง) คือ หลวงเทพมณเฑียรหน้าวัง ได้เปนพนักงานจัดการพิธีต่าง ๆ แลจัดที่พักรับแขกเมืองไปมา

(คลัง) คือ หลวงอินทมนตรีศรีราชรักษาคลัง ได้เปนพนักงานเก็บภาษีต่าง ๆ แลเก็บหางเข้าค่านา

(นา) คือหลวงทิพมนตรีศรีสมโภชน์กรมนา (พระยาจางวางน้อย ได้แก้นามเสียใหม่เปนหลวงทิพมนตรีที่นา) ได้ว่าความที่ดินกับรักษาฉางเข้า แลแรกนาขวัญด้วย แต่การแรกนาได้เลิกมาแต่ครั้งพระยาพัทลุง (จุ้ย)

 ตำแหน่งอาญา หลวงอินทรอาญา ได้ว่าความอาญา (อาญาราษฎรหรืออาญาสินไหม)

 ตำแหน่งแพ่ง หลวงพรหมสุภาแพ่งได้ว่าความแพ่ง แลเปนผู้วางเบี้ยปรับคู่ความเมื่อความถึงแพ้ชนะกันแล้ว

 ตำแหน่งพระธรรมนูญ ขุนสรภากรเปนผู้รับฟ้องประทับพระธรรมนูญนำเสนอเจ้าเมือง ลงคำสั่งให้กรมการชำระตามตำแหน่ง แต่บางคราวสั่งแยกย้ายให้กรมการพิศษชำระบ้างตามความมากแลน้อยเพื่อให้แล้วเร็ว

 ตำแหน่งพัศดุสรรพาวุธ หลวงไชยสุรินทรเปนพนักงานรักษาตึกดิน แลรักษาเครื่องสรรพาวุธต่าง ๆ แลตรวจรับกระสุนดินดำจากสัสดี

ตำแหน่งสัสดี ๕ คน หลวงไชยเสนาสัสดีกลางเปนผู้บังคับการทั่วไป ๑ หลวงเทพเสนาสัสดีขวา ๑ หลวงไชยขยาสัสดีซ้าย ๑ หลวงไชยเสนีผู้ช่วย ๑ หลวงอินทรเสนาผู้ช่วย ๑ มีหน้าที่ถือบาญชีกองเลขส่วยเลขสมศักดีแลเลขขึ้น มีขุนหมื่นเปนนายหมวดนายกองคุมเลขส่วยต่าง ๆ ที่ได้นำสักไว้ขึ้นอยู่ในสัสดีกับออกหมายเกณฑ์ส่วยต่าง ๆ มีกระสุนดินดำ เครื่องสรรพาวุธ เครื่องราชบรรณาการบ้าง

กรมการข้างบนนี้เปนกรมการในทำเนียบ มีเลขสร่วยสำหรับทุกตำแหน่ง นอกจากนี้เปนกรมการพิเศษ จะมีเลขส่วยสำหรับตัวบ้าง ก็เปนเลขที่ได้นำสักไว้หรือที่ได้รับมรฎกต่อม

 พนักงานพิธีขึ้นกับหลวงทิพมณเฑียรหน้าวัง มีพราหณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียนไชยมีหัวหน้า ๔ คน คือ พราหมณ์พรต (นักบวช ๘ คน คือ ขุนศรีสยมภูหัวหน้าพราพมณ์ ๑ ขุนศรีสพสมัยผู้ถือบาญชีพราหมณ์ ๑ ขุนไชยปาวีผู้ช่วย ๑ ขุนสิทธิไชยผู้นำ เจ้าเมืองเข้าเมือง ๑ ขุนไชยธรรมผู้ช่วย ๑ ขุนเทพมุนีผู้ช่วย ๑ ขุนยศผู้ช่วย ๑ ขุนน้อยผู้ช่วย ๑)

พราหมณ์บรรเฑาะว์ชาวสังข์ ๑๒ คน ๆ เป่าสังข์ ๒ คู่ ๘ คน ผลัดเปลี่ยนกัน คนแกว่งบรรเฑาะว์ ๑ คู่ ๔ คน ผลัดเปลี่ยนกัน

หัวน่ารักษาเทียนไชย แลปฏิบัติพระซึ่งผลัดเปลี่ยนประจำเตียงสวดภาณวารครั้งละ ๔ รูปมี ๔ คน คือ ขุนพรหมเพณี ๑ ขุนศรีไตรรัตน์ ๑ (อิก ๒ นายไม่พบชื่อ)

 กรมการสำหรับเปนพนักงานของเจ้าเมือง คือ

ก. หลวงท้ายวัง ๑ ขุนกลางวัง ๑ เปนผู้ดูแลการงานในจวนเจ้าเมือง แลหลวงท้ายวังได้ควบคุมเลขฝีพายแลรักษาพาหนะต่าง ๆ มีเรือแลช้างม้าเปนต้น

ข. พนักงานเวรบน ๔ เวร มีหัวหน้าเวรละคน คือ หมื่นรักษ์เวร ๑ หมื่นฤทธิเวร ๑ หมื่นสนิทเวร ๑ หมื่นเสน่ห์เวร ๑ ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรประจำหอนั่ง มีน่าที่รับใช้ในเวลารับแขกแลออกว่าราชการกับรักษาอาวุธแลเครื่องใช้ต่าง ๆ

ค. พนักงานเวรล่าง ๔ เวร มีหัวหน้าเวรละคน คือ หมื่นอินทรมณเฑียรเวร ๑ หมื่นพรหมมณเฑียรเวร ๑ หมื่นทิพมณเฑียรเวร ๑ หมื่นเทพมณเฑียรเวร ๑ ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรประจำโรงเวร มีหน้าที่เฝ้าประตู แลรักษานาฬิกาฆ้องยามกับเปนคนรับใช้การกุลีต่าง ๆ มีหามแคร่ พายเรือตักน้ำ หาฟืน เปนต้น

ทั้ง ๒ เวรนี้มีขุนกลางเปนจางวางบังคับการทั้งเวรบนเวรล่าง แลได้ว่าความหน้าโรงด้วย

ฆ. หลวงศุภมาตราหัวน่าเสมียนเปนผู้รับคำสั่งเจ้าเมืองทำคำสั่งแลหนังสือเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ง. ขุนพิพิธภักดีจางวางหัวน่าทนายแลคนใช้ถือหนังสือสำคัญไปยังตำบลต่าง ๆ

 กรมการพิเศษซึ่งเจ้าเมืองเห็นว่าคนใดควรแต่งตั้งขึ้นไว้ใช้ราชการได้ มีนามดังนี้ คือ

ขุนต่างใจฯ ๑ ขุนต่างจิตรฯ ๑ ขุนต่างตาฯ ๑ ๓ คนนี้มีตัวประจำเสมอ ต่อนี้ไปแล้วแต่จะมีตัวบุคคล คือ

หลวงฤทธิเสนี หลวงสรเสนี หลวงภักดีสงคราม หลวงไชยสงคราม หลวงฤทธิสงคราม หลวงเพ็ชรสงคราม หลวงพิทักษ์สงคราม หลวงฤทธิไชย หลวงพรหมมาลา หลวงภักดีโยธา หลวงวิจิตรรจนา หลวงพรหมสุภา หลวงเทพสุภา ขุนศรีวิเศษ ขุนทิพอักษร ขุนอินทรอักษร ขุนพรหมอักษร ขุนวิจิตรอักษร ขุนชำนาญอักษร ขุนภักดีอาษา ขุนภักดีวิเศษ ขุนศรีบริรักษ์ หมื่นพิทักษ์อาษา ขุนศรีวังราช ขุนศรีคชกรรม์ แล ฯ

อนึ่ง กรมการชั้นหมายตั้งเจ้าเมืองนั้น ถ้าเปนหลวงก็เรียกว่าจอม ถ้าเปนขุนก็เรียกว่า (หม่อม) เช่น จอมเมือง จอมนา หม่อมต่างใจ หม่อมต่างตา เปนต้น แต่บางบุคคลที่เปนขุนชั้นตำแหน่งน้อยก็เรียกว่า ขุนนั่น หลวงนี่ ก็มีเหมือนกัน แลที่เรียกกรมการดังนี้ได้ความว่าเมืองนครศรีธรรมราชเปนต้นเดิม แล้วเมืองพัทลุง สงขลา เรียกตาม ที่เรียกเช่นนี้เพื่อเปนการเคารพต่อกรมการผู้นั้น เช่นเรียกพระยาว่าเจ้าคุณ

๑๐ วิธีปกครองท้องที่ แบ่งออกเปนตำบลน้อยบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ภูมิท้องที่จะสดวก เรียกว่าอำเภอ ๑ มีหลวง ขุน หมื่น เปนนายตำบล เรียกว่าหัวเมือง ๆ เจ้าเมืองเลือกตั้งแต่งตามที่ชอบด้วยภูมิที่ นายตำบลหรือหัวเมืองมีอำนาจชำระความได้ทุนทรัพย์เบี้ยต่ำแสน นอกกว่านั้นถ้าคู่ความยินยอมก็เปรียบเทียบได้ เว้นแต่ความนครบาล นายตำบลมีน่าที่สำคัญอย่างหนึ่งต้องระวังรักษาการโจรผู้ร้ายโดยกวดขัน กับการทำมาหากินของพลเมือง คือ ถ้าถึงเทศกาลทำนา เปนหน้าที่นายตำบลบังคับให้ชาวนาซึ่งมีนารวมอยู่ทุงหนึ่งหลาย ๆ เจ้าของ ให้เจ้าของนาเหล่านั้นมารวมมือกันแต่งเหมืองน้ำแลลงมือปิดทำนบไขน้ำขึ้นนาครั้งหนึ่ง เมื่อเสร็จการไถหว่านปักดำแล้ว ก็ระดมทำรั้วล้อมอิกครั้งหนึ่ง ประมาณคนหนึ่ง ราว ๒–๓ วา เรียกว่ารั้วญา อนึ่ง เหมืองชักน้ำนั้น ถ้าเห็นว่าที่ใดตำบลใดมีประโยชน์แก่การทำนาทำสวน ก็จัดแจงตกแต่งหรือขุดใหม่ก็ลงมือทำทีเดียว เปนดังนี้เสมอมา เจ้าเมืองกรมการก็เอาใจใส่เปนธุระมาก แม้นายตำบลเพิกเฉยหรือราษฎรชาวนาขัดขืน ก็ลงโทษตามควร

ภูมิพื้นเมืองพัทลุงชอบการเพาะปลูกทำเรือกสวนไร่นา จึงนิยมการทำนาว่าเปนกำลังของบ้านเมือง ด้วยมีทางน้ำไหลลงมาจากภูเขาบรรทัดซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตวันตกของเมือง เปนภูเขาเทือกขึงยาว เนื่องมาแต่ภูเขา ๓๐๐ ยอด ยาวไปทางทิศใต้ตามเส้นสูนย์กลางของแหลมมลายูจนตลอดนั้น เปนที่เกิดลำน้ำไหลลงไปสู่ทะเลสาปฝ่ายทิศตวันออกของเมืองเปนหลายลำคลอง ๆ เหล่านี้ เมื่อต้องการน้ำขึ้นนาเมื่อใด ก็ลงปิดทำนบก็ได้น้ำตามต้องการ จนเปนประเพณีต่อมาช้านาน ครั้นมาทุกวันนี้ ประเพณีนั้นก็สาปสูญไป

ราษฎรพลเมืองทุกคน เว้นแต่ข้าพระโยมสงฆ์ที่ทรงพระราชอุทิศไว้สำหรับวัด ต้องเปนเลขส่วยต่าง ๆ เลขส่วยเหล่านี้มีอายุกำหนด ๑๘ ปีเปนฉกรรจ์ ถึง ๗๐ ปีชรา เปนหน้าที่สัสดีออกหนังสือคู่มือสำหรับชราให้พ้นจากการเกณฑ์ส่วย แลพวกเลขส่วยเหล่านี้ในเวลาปรกติไม่มีการศึกสงครามก็ต้องถูกเกณฑ์สิ่งของต่าง ๆ ตามหมู่ตามเหล่า มีกระสุนดินดำเปนต้น เปนของหลวงไว้สำหรับบ้านเมืองบ้าง ส่งกรุงเทพฯ บ้าง นายหมวดนายกองผู้ควบคุมเกณฑ์เอาตัวไปใช้การงานต่าง ๆ บ้าง เอาสิ่งของต่าง ๆ บ้าง ทุกปีมิได้ขาด

ถ้าบ้านเมืองมีศึกสงคราม ก็เกณฑ์เลขส่วยเหล่านี้เข้าเปนพลรบโดยไม่มีขีดขั้นอายุ แม้อายุไม่ถึง ๑๘ ปีก็ดี หรืออายุเกิน ๗๐ ปี ได้ใบชราคู่มือแล้วก็ดี เมื่อมีร่างกายสมควร ต้องเกณฑ์เข้าเปนพลรบทั้งสิ้น พลรบเหล่านี้ต้องจัดหาอาวุธสำหรับมือแล้วแต่ถนัดอาวุธอย่างใด กับเสบียงอาหารผ้านุ่งห่มของตัวเองด้วย (แปลว่าพลเมืองแต่ก่อนต้องเปนทหารประจำตัวอยู่เสมอทุกคน ขุนหมื่นแลบุตรขุนหมื่นก็เปนนายทหารคุมเลของตนตามลำดับชั้นที่เรียก ว่านายหมวดนายกองนั้นเอง)

เพราะฉนั้น การเปนทหารแลตำรวจภูธรในสมัยทุกวันนี้ ถ้าจะเทียบกับสมัยโบราณ ก็ไม่น่าจะท้อถอยเลย ด้วยความศุขแลความบริบูรณ์ของพลรบเวลานี้ผิดกว่าแต่ก่อนมากมายนักหรือตรงกันข้ามก็ว่าได้ แต่คนเราเมื่อได้ความศุขมีอิศรภาพมากขึ้น บางคนก็ลืมวิธีปกครองครั้งสมัยโบราณเสีย

คณสงฆ์ คือ ตำแหน่งสัญญาบัตร มีพระครูอริยสังวรเปนเจ้าคณะเมือง

มีเจ้าคณรอง ๔ รูป

พระครูกาแก้ว ๑ พระครูการาม ๑ พระครูกาชาติ ๑ พระครูกาเดิม ๑

สำหรับสวดพิธี ๔ รูป

เปนตำแหน่งเจ้าเมืองตั้ง คือ พระครูธรรมจักร ๑ พระครูธรรมโกษ ๑ พระครูอินทโมฬี ๑ (เจ้าคณะป่าแก้วโบราณ) พระครูเทพโมฬี ๑

สวดพิธีต่าง ๆ มีพิธีตรุศ พิธีสารท ๓ ปีมีอาฏานาหน ๑ คือ เว้นปี ๑ มีอาฏานาปี ๑ สลับกันไป

วิธีปกครองโบราณกาลดังกล่าวข้างบนนี้ เข้าใจว่า ฝ่ายปักษ์ใต้จะคล้ายคลึงกันทุกเมือง จะผิดกันบ้างก็แต่ตำแหน่งกรมการหรือประเพณีบางอย่าง แต่ราษฎรพลเมืองเปนเลขส่วยและเปนพลรบดังกล่าวมาแล้วนั้นทั้งสิ้น ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง จะมีวิธีเหมือนกันมากกว่าเมืองอื่น.

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก