ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 9/เรื่องที่ 4

จาก วิกิซอร์ซ
พงษาวดารเมืองเชียงแขง

 วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ พระยาศรีสิงหเทพฯ ได้ถามถ้อยคำพระยาราชไมตรี ราชาคำฦๅ แสนราชวัง เมืองเชียงแขง ซึ่งคุมต้นไม้ทองเงินลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระยาราชไมตรี ราชาคำฦๅ แสนราชวัง ให้ถ้อยคำว่า เดิมเมืองเชียงแขงตั้งอยู่ฝั่งน้ำของตวันออกเหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไป เดินทางบกฝั่งตวันตกแต่เมืองเชียงแสนถึงหัวโป่ง ๒ คืน แต่หัวโป่งไปนอนเมืองเลนคืน ๑ แต่เมืองเลนไปนอนเมืองเปลวคืน ๑ แต่เมืองเปลวไปนอนเมืองเชียงราบคืน ๑ แต่เมืองเชียงราบขึ้นไปตามลำน้ำของ ๖ คืน เดินบก ๔ คืนถึงเมืองเชียงแขง แต่เมืองเชียงแขงไปเมืองเชียงตุงเดินทางบก ๘ คืน แต่เมืองเชียงแขงเดินทางบกไปข้างตวันออกถึงเมืองสิง ๒ คืน แต่เมืองสิงเดินบกมาข้างตวันตกเฉียงใต้ถึงเมืองนังวัน ๑ เดิมเมืองเชียงแขงขึ้นแก่เมืองอังวะมาช้านานหลายชั่วเจ้าเมืองมาแล้ว ครั้นถึงเจ้าเมืองเชียงแขงเถ้า มีน้องชาย ๒ คน หญิง ๒ คน น้องชายคน ๑ ชื่อ แจ่มเมือง ได้เปนที่อุปราชเมืองเชียงแขง น้องชายอิกคน ๑ ชื่อ ฟ้าเมา อยู่เมืองเชียงแขง น้องหญิงคน ๑ ชื่อ นางจามคำ เปนภรรยาเจ้าเมืองหลอย น้องหญิงอีกคน ๑ ชื่อ นางขันคำ เปนภรรยามหาขนานเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงแขงเถ้ามีบุตรชายชื่อ หม่อมสลิ ๑ หญิง ๑ อุปราชแจ่มเมืองมีบุตรชาย ๑ หญิง ๑ นางขันคำ ภรรยามหาขนานเมืองเชียงตุง มีบุตรชื่อ ทิปนีคำ ๑ ชื่อ กองไต ๑ รวม ๒ คน นางจามคำ ภรรยาเจ้าเมืองหลอย ไม่มีบุตร ครั้นอยู่มา ฟ้าเมา น้องเจ้าเมืองเชียงแขงเถ้า วิวาทกัน ฟ้าเมาพาครอบครัวลงมาพึ่งเมืองน่าน เพราะมารดาเจ้านครเมืองน่านเปนเชื้อสายเมืองเชียงแขง นับถือกันว่า เปนพี่น้องกัน ฟ้าเมาถึงแก่กรรมที่เมืองน่าน ภายหลัง เจ้าเมืองเชียงแขงเถ้า กับอุปราชเมืองเชียงแขง ถึงแก่กรรม เมืองเชียงแขงว่างเปล่าอยู่

ศักราช ๑๒๒๐ ท้าวพระยาเมืองเชียงแขงขอทิปนีคำ บุตรมหาขนานเมืองเชียงตุง มาว่าราชการเมืองเชียงแขง ๒ ปี ลงไปรับตำแหน่งที่เจ้าเมืองเชียงแขงที่เมืองอังวะ กลับมาถึงเมืองนาย ถึงแก่กรรม ท้าวพระยาเมืองเชียงแขงจึงขอกองไต บุตรมหาขนานเมืองเชียงตุง มาเปนเจ้าเมืองเชียงแขงเมื่อศักราช ๑๒๒๒ หม่อมสลิ บุตรเจ้าเมืองเชียงแขงเถ้า ได้เปนอุปราช เจ้าเมืองเชียงแขงว่าราชการเมืองได้ ๑๕ ปี มีบุตรชายชื่อ เสือ ๑ ก้อนแก้ว ๑ หญิง ๔ รวม ๖ คน ครั้นมหาขนานเมืองเชียงตุงถึงแก่กรรม เจ้าเมืองเชียงแขงกองไตได้เปนเจ้าเมืองเชียงตุง อุปราชเมืองเชียงแขงได้เปนเจ้าเมืองเชียงแขง อายุได้ ๑๙ ปี เจ้าเมืองอังวะตั้งนามว่า หม่อมมหาศรีสัพเพชังกูรพุทธพรหมวงษาเจ้าเมืองเชียงแขง มีเมืองขึ้น เมืองยุ ๑ เมืองอะ ๑ เมืองโหลย ๑ เมืองและ ๑ เมืองขัน ๑ รวม ๕ เมือง

ครั้นเจ้าเมงดองเมง เจ้าอังวะ สิ้นบุญไปแล้ว เจ้าสิปอ บุตร ได้เปนเจ้าอังวะ พี่น้องก็แย่งชิงราชสมบัติฆ่าฟันกัน เจ้าเมืองเชียงแขงก็หาได้ขึ้นแก่เมืองอังวะส่งต้นไม้ทองเงินเหมือนแต่ก่อนไม่ ภายหลัง อังกฤษมาตีได้เมืองอังวะ เจ้าเมืองเชียงแขงก็ตั้งรักษาบ้านเมืองอยู่ตามเดิม หาได้ลงไปเมืองอังวะไม่

ครั้นศักราชได้ ๑๒๔๖ ปี เจ้าเมืองเชียงตุงกองไตถึงแก่กรรม เจ้าเสือ บุตรที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองเชียงตุง อายุได้ ๑๖ ปี

เมื่อศักราชได้ ๑๒๔๕ ปีนั้น เจ้าเมืองเชียงแขงจึงปฤกษาท้าวพระยาพร้อมกันเห็นว่า ที่เมืองเชียงแขง ที่ไร่นามีน้อย ครอบครัวทำมาหากินขัดสนมาก จึงพาครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองสิง ฝั่งน้ำของตวันออกเปนเขตรแขวงขึ้นกับเมืองน่าน หมายเอากรุงเทพฯ เปนที่พึ่งต่อไป เจ้าเมืองเชียงแขงอายุได้ ๔๕ ปี มีบุตรชายชื่อ เจ้าองค์คำ ๑ เจ้าทิปะ ๑ หญิงชื่อ ประทุมา ๑ สนันตา ๑ รวม ๔ คน เจ้าเมืองเชียงแขงท้าวพระยาพาครอบครัวมาตั้งอยู่ที่เมืองสิง ประมาณครัวใหญ่น้อย ๑๐๐๐ เศษ แต่ราชาธนัญไชยกับครอบครัวรักษาศาลเทพารักษ์อยู่ที่เมืองเชียงแขงประมาณ ๑๐ หลังเรือน เจ้าเมืองท้าวพระยาเมืองขึ้นทั้ง ๕ หัวเมืองนั้นยังตั้งบ้านเรือนเปนปรกติอยู่ตามเดิม เมืองขึ้นเมืองเชียงแขงตั้งอยู่ฝั่งน้ำของตวันตกทั้ง ๕ เมือง ระยะทางไปจากเมืองแขง นอนเมืองขัน จากเมืองขัน ไปนอนเมืองและ จากเมืองและ นอนทางคืน ๑ ถึงเมืองโหลย จากเมืองโหลย นอนเมืองยุ จากเมืองยุถึงเมืองอะคืน ๑

แต่เมืองสิงเดินทางบกลงมาข้างใต้ ๔ คืนถึงเมืองหลวงภูคา จากเมืองหลวงภูคาลงมาเมืองเชียงของ ๖ คืน แต่เมืองนังลงมาเมืองหลวงภูคา ๔ คืน แต่เมืองสิงเดินทางบกไปข้างตวันออกเฉียงเหนือคืน ๑ ถึงเมืองพง แต่เมืองสิงเดินทางบกไปข้างเหนือ ๒ คืน ถึงเมืองล่า จากเมืองล่า ๔ คืนถึงเมืองอู ๆ เมืองพง เมืองล่า ขึ้นเชียงรุ้งสิบสองปันนา

 วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ เวลา ๔ ทุ่ม เสด็จออกขุนนางณพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งพระยาศรีสิงหเทพมีหนังสือส่งสำเนาบอกเมืองน่าน เมืองเชียงแขง แลคำให้การพระยาราชไมตรีพลฦๅ ทูลเกล้าฯ ถวายว่า จะควรให้มีศุภอักษรฤๅท้องตราตอบต้นไม้ทองเงินเมืองเชียงแขงนั้น เปนการเอื้อเฟื้อต่อราชการดีมาก แต่ยังทรงสงไสยว่า แต่ก่อน เจ้าเมืองเชียงตุงมีหนังสือออกชื่อว่า ฟ้าเชียงแขง เชียงตุง นั้น เพราะเหตุอย่างไร ๚

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙

 หลวงเสนาภักดีได้สอบถามเจ้าราชวงษ์เมืองน่าน ราชาพรหมฦๅ ให้ถ้อยคำว่า เจ้าเมืองเชียงแขงกองไตได้เปนเจ้าเมืองเชียงตุงแทนบิดา อุปราชแจ่มเมือง ผู้น้องเจ้าเมืองเชียงตุงกองไต ได้เปนเจ้าเมืองเชียงแขงต่อมา แต่ราชการบ้านเมืองในเมืองเชียงแขงนั้น เจ้าอังวะได้มอบให้เจ้าเมืองเชียงตุงเปนธุระดูแลเอาใจใส่ราชการในเมืองเชียงแขงด้วย เจ้าเมืองเชียงตุงจึงได้ออกชื่อว่า ฟ้าเชียงตุง ฟ้าเชียงแขง เพราะได้เปนธุระว่าการในเมืองเชียงแขง ถ้าราชการในเมืองเชียงแขงขัดข้องประการใด เจ้าเมืองเชียงแขงแจ่มเมืองคนนี้ได้ไปมาปฤกษาหารือกับเจ้าเมืองเชียงตุงกองไต ผู้พี่ชาย อยู่เนือง ๆ มิได้มีความรังเกียจ เพราะเปนพี่น้องกัน แต่หาได้เปนเมืองขึ้นแลเมืองเสียส่วยกับเมืองเชียงตุงไม่ เจ้าเมืองเชียงตุงกองไตถึงแก่กรรมแล้ว เจ้าเสือ บุตรเจ้าเมืองเชียงตุง ได้เปนเจ้าเมืองเชียงตุงต่อมา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงตุง ได้มีหนังสือไปมาถึงกันอยู่เนือง ๆ หาได้ออกชื่อว่า ฟ้าเชียงตุง ฟ้าเชียงแขง เหมือนแต่ก่อนไม่ เมืองเชียงแขงเคยส่งบรรณาการเมืองอังวะสามปีครั้งหนึ่ง ครั้นเมืองเจ้าเมืองเชียงแขงกองไตเปนเจ้าเมืองเชียงแขง ขอส่งบรรณาการ ๖ ปีครั้งหนึ่ง เจ้าอังวะก็ยอม บรรณาการเมือง เชียงแขงที่เคยส่งกับเมืองอังวะนั้นมีต้นไม้ทองหนัก ๕ บาท ๑ ต้นไม้เงินหนัก ๕ บาท ๑ แพรต่วนอย่างดี ๒ ม้วน เจ้าเมืองเชียงแขงแจ่มเมือง ตั้งแต่เปนเจ้าเมืองมาได้ ๖ ปี ก็ยังหาทันได้ส่งบรรณาการไปเมืองอังวะสักครั้งหนึ่งไม่ ๚