พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1ฯ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535/เอกสารแนบท้าย/ลักษณะ 4

จาก วิกิซอร์ซ
ลักษณะ ๔
นิติกรรม

หมวด ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป


มาตรา ๑๔๙ นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๕๑ การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ

มาตรา ๑๕๒ การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๕๓ การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ

หมวด ๒
การแสดงเจตนา


มาตรา ๑๕๔ การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

มาตรา ๑๕๕ การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

มาตรา ๑๕๖ การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น

มาตรา ๑๕๗ การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่า เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา ๑๕๘ ความสำคัญผิดตามมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้

มาตรา ๑๕๙ การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

มาตรา ๑๖๐ การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา ๑๕๙ ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

มาตรา ๑๖๑ ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

มาตรา ๑๖๒ ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา ๑๖๓ ถ้าคู่กรณีต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อบอกล้างการนั้นหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้

มาตรา ๑๖๔ การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา ๑๖๕ การขู่ว่า จะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่า เป็นการข่มขู่

การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่า การนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

มาตรา ๑๖๖ การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะแม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

มาตรา ๑๖๗ ในการวินิจฉัยกรณีความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่ ให้พิเคราะห์ถึง เพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย และภาวะแห่งจิตของผู้แสดงเจตนา ตลอดจนพฤติการณ์และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการนั้นด้วย

มาตรา ๑๖๘ การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่า มีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

มาตรา ๑๖๙ การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่า มีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล

การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา ๑๗๐ การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี ของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

มาตรา ๑๗๑ ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร

หมวด ๓
โมฆะกรรมและโมฆียะกรรม


มาตรา ๑๗๒ โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา ๑๗๓ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้

มาตรา ๑๗๔ การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น

มาตรา ๑๗๕ โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

(๒) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

(๓) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่

(๔) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา ๓๐ ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

มาตรา ๑๗๖ โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่า เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่า บุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม

มาตรา ๑๗๗ ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา ๑๗๕ ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่า การนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก

มาตรา ๑๗๘ การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน

มาตรา ๑๗๙ การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา ๓๐ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี

ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์

มาตรา ๑๘๐ ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตามมาตรา ๑๗๙ ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมโดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา ๑๗๕ ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด ให้ถือว่า เป็นการให้สัตยาบัน

(๑) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๒) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว

(๓) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่

(๔) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น

(๕) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๖) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน

มาตรา ๑๘๑ โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

หมวด ๔
เงื่อนไขและเงื่อนเวลา


มาตรา ๑๘๒ ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา ๑๘๓ นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมได้แสดงเจตนาไว้ด้วยกันว่า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสำเร็จ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเช่นนั้น

มาตรา ๑๘๔ ในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแห่งนิติกรรมอันอยู่ในบังคับเงื่อนไขจะต้องงดเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะพึงได้จากความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้น

มาตรา ๑๘๕ ในระหว่างที่เงื่อนไขยังมิได้สำเร็จนั้น สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของคู่กรณีมีอย่างไร จะจำหน่าย จะรับมรดก จะจัดการป้องกันรักษา หรือจะทำประกันไว้ประการใดตามกฎหมายก็ย่อมทำได้

มาตรา ๑๘๖ ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดเสียเปรียบ และคู่กรณีฝ่ายนั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นไม่สำเร็จ ให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

ถ้าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดได้เปรียบ และคู่กรณีฝ่ายนั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นสำเร็จ ให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นมิได้สำเร็จเลย

มาตรา ๑๘๗ ถ้าเงื่อนไขสำเร็จแล้วในเวลาทำนิติกรรม หากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ให้ถือว่า นิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข หากเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ให้ถือว่า นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

ถ้าเป็นอันแน่นอนในเวลาทำนิติกรรมว่าเงื่อนไขไม่อาจสำเร็จได้ หากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ให้ถือว่า นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ หากเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ให้ถือว่า นิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข

ตราบใดที่คู่กรณียังไม่รู้ว่าเงื่อนไขได้สำเร็จแล้วตามวรรคหนึ่ง หรือไม่อาจสำเร็จได้ตามวรรคสอง ตราบนั้นคู่กรณียังมีสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา ๑๘๔ และมาตรา ๑๘๕

มาตรา ๑๘๘ นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๘๙ นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลังและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย ให้ถือว่า นิติกรรมนั้นไม่มีเงื่อนไข

มาตรา ๑๙๐ นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๙๑ นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด

นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด

มาตรา ๑๙๒ เงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า กำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะปรากฏโดยเนื้อความแห่งตราสารหรือโดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า ได้ตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหนี้หรือแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยกัน

ถ้าเงื่อนเวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้ หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น

มาตรา ๑๙๓ ในกรณีดังต่อไปนี้ ฝ่ายลูกหนี้จะถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเงื่อนเวลาสิ้นสุดมิได้

(๑) ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

(๒) ลูกหนี้ไม่ให้ประกันในเมื่อจำต้องให้

(๓) ลูกหนี้ได้ทำลาย หรือทำให้ลดน้อยถอยลงซึ่งประกันอันได้ให้ไว้

(๔) ลูกหนี้นำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาให้เป็นประกันโดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ยินยอมด้วย